เกิดเหตุระทึก เขื่อนโนวา คาคอฟกา หรือเรียกสั้นๆ ว่า เขื่อนคาคอฟกา เขื่อนใหญ่ของภูมิภาคเคอร์ซอน ทางภาคใต้ของยูเครน ระเบิดในช่วงเช้าของวันนี้ 6 มิ.ย. 2566 ทำให้มวลน้ำมหาศาลจากอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนไหลทะลัก ท่วมสมรภูมิรบระหว่างยูเครนและรัสเซีย
ล่าสุด ยูเครนออกมากล่าวหาว่า รัสเซียเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการการระเบิดเขื่อน คาคอฟกา แต่ทางรัสเซียยังไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆ ต่อคำกล่าวหาของยูเครน
เขื่อนโนวา คาคอฟกา ของยูเครนสำคัญอย่างไร ในศึกสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนขณะนี้ ทำไมการระเบิดเขื่อนนี้ถึงส่งกระทบรุนแรงหลายด้าน
เขื่อนโนวา คาคอฟกา เป็นเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และจัดการระบบน้ำจากแม่น้ำดนีโปรไปทั่วยูเครน นอกจากนี้ ยังส่งน้ำไปยังคาบสมุทรไครเมียที่รัสเซียประกาศผนวกรวมดินแดนในปี 2557 รวมไปถึงเขื่อนคาคอฟกา ยังส่งน้ำไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริชเชียทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป
...
เขื่อนคาคอฟกา ถูกก่อสร้างขึ้นในปี 2499 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำคาคอฟกา ด้วยเหตุนี้เขื่อนที่เสียหายอาจส่งผลกระทบต่อพลังงานไฟฟ้า
เขื่อนคาคอฟกา มีความสูงอยู่ที่ 30 เมตร และมีความยาว 3.2 กิโลเมตร นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำของเขื่อนสามารถบรรจุน้ำได้ทั้งสิ้น 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณน้ำเทียบเท่ากับทะเลสาบเกรตซอลต์ ในรัฐยูทาห์ ของสหรัฐฯ
การระเบิดเขื่อนครั้งนี้ทำให้น้ำที่อยู่ในอ่างไหลท่วมพื้นที่อาคารบ้านเรือนที่อยู่ใต้เขื่อน รวมไปถึงเมืองเคอร์ซอน ที่ยูเครนสามารถยึดพื้นที่คืนจากทหารรัสเซียได้ในปลายปีผ่านมา
ด้านผู้ว่าฯ เมืองเคอร์ซอนเร่งอพยพประชาชนในพื้นที่ทันที หลังเกิดเหตุระเบิดเขื่อนในวันนี้ พร้อมแจ้งว่า ระดับน้ำจะสูงขึ้นจนอยู่ในระดับวิกฤติภายใน 5 ชั่วโมง
เขื่อนคาคอฟกา เคยตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของทัพรัสเซียในช่วงต้นของการรุกรานที่เริ่มขึ้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากเขื่อนแห่งนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ แต่ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ยูเครนสามารถยึดพื้นที่ส่วนมากในเคอร์ซอนคืนได้
ขณะนั้น ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ได้เคยเรียกร้องชาติตะวันตกให้เตือนรัสเซียว่าอย่าระเบิดเขื่อนนี้ เพราะอาจทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในภาคใต้ของยูเครน
แต่แล้วในที่สุด เขื่อนคาคอฟกา เขื่อนใหญ่ทางภาคใต้ของยูเครน ได้โดนระเบิดจนเขื่อนแตก เมื่อช่วงเช้าวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลทะลักจากอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน สร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงอย่างยิ่งต่อหายนะภัยที่กำลังจะเกิดขึ้น.
ที่มา reuters, The Guardian