ผลการศึกษาใหม่พบว่า ภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพิ่มโอกาสเกิดคลื่นความร้อนในเอเชียถึง 30 เท่า และทำให้อากาศร้อนขึ้นอย่างน้อย 2 องศาด้วย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 18 พ.ค. 2566 ว่า องค์กร World Weather Attribution (WWA) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระ เผยผลการศึกษาใหม่พบว่า หลายพื้นที่ในอินเดียมีอุณหภูมิสูงกว่า 44 องศาเซลเซียสในช่วงกลางเดือนเมษายน โดยมีผู้เสียชีวิตจากอาการฮีตสโตรกในนครมุมไบถึง 11 ศพในวันเดียว ส่วนที่กรุงธากา ของบังกลาเทศ เผชิญวันที่ร้อนที่สุดในรอบเกือบ 60 ปี

ที่จังหวัดตากของไทย ทำอุณหภูมิสูงที่สุดตลอดกาลที่ 45.4 องศาเซลเซียส ขณะที่จังหวัดไซยะบุลี ของ สปป.ลาว ก็มีอุณหภูมิถึง 42.9 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติแห่งชาติ โดยมีรายงานพบผู้เสียชีวิตเพราะฮีตสโตรกในไทย 2 ศพ แต่จำนวนที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ และมีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลจำนวนมาก

นอกจากนั้นหลายประเทศในเอเชียก็มีอุณหภูมิสูงผิดปกติ เช่น จีน, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

ตามรายงานขององค์กร World Weather Attribution ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระ พบว่า อากาศร้อนทุบสถิติในประเทศไทยรุนแรงขึ้นเพราะอัตราความชื้นสูง รวมถึงเหตุไฟป่าหลายจุดที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ส่วนที่ฟิลิปปินส์ มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส 5 วันติดต่อกัน ทำให้เด็กนักเรียนป่วยเป็นลมแดดร่วม 150 คน

ทั้งนี้ WWA ทำการศึกษาอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย และดัชนีความร้อนสูงสุด ซึ่งรวมถึงค่าความชื้นด้วย และพบว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้โอกาสเกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้นด้วยความชื้น สูงขึ้นถึง 30 เท่า และคลื่นความร้อนนี้จะทำให้อากาศร้อนขึ้นกว่าตอนไม่มีปัจจัยจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างน้อย 2 องศาเซลเซียสด้วย

...

ผลการวิเคราะห์ยังพบว่า สภาพอากาศสุดขั้วเช่นนี้ในอินเดียกับบังกลาเทศ ซึ่งเมื่อก่อนจะเกิด 1 ครั้งในรอบ 100 ปี ตอนนี้คาดว่าจะเกิดทุกๆ 5 ปี เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศฝีมือมนุษย์

สำหรับประเทศไทยและลาว หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 30 ปีนี้ หากชาติต่างๆ ไม่รีบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งสองประเทศอาจเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วในทุกๆ 20 ปี แทนที่จะเป็นทุกๆ 2 ศตวรรษอย่างทุกวันนี้

“อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นต่อไป และเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น จนกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะถูกหยุด” ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุในแถลงการณ์

ที่มา : cnabbc