ค.ศ.2006 กลุ่มผู้ก่อการร้ายนำสารประกอบระเบิดซึ่งอยู่ในรูปของเหลวซุกมากับขวดน้ำดื่มเพื่อนำขึ้นเครื่องบินที่จะบินจากสนามบินของอังกฤษ โชคดีที่เจ้าหน้าที่สนามบินตรวจพบเสียก่อน มีการประเมินความเสียหายว่า เจ้าหน้าที่ไม่ตรวจพบในวันนั้น ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจะเทียบกับเหตุการณ์ 911
หลังจากตรวจพบ รัฐบาลอังกฤษจึงออกกฎห้ามนำของเหลวที่มีปริมาณเกิน 100 มิลลิลิตรขึ้นเครื่องบิน หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาไปจนกลายเป็นกฎของ ICAO หรือองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศที่ใช้บังคับทั่วโลกตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2007 การห้ามนำของเหลวขึ้นเครื่องบินนำความยุ่งยากมาให้ผู้ที่ต้องให้นมกับทารก ผู้ป่วยที่ต้องทานยาน้ำ รวมทั้งผู้โดยสารทั่วไปที่ต้องใช้สิ่งของเฉพาะตัวเช่นแชมพูสระผม ซึ่งไปหาซื้อยี่ห้อที่ตนเองใช้ไม่ได้ในประเทศที่ตนเองจะบินไป
สิบกว่าปีที่องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศห้ามนำของเหลวเกิน 100 มิลลิลิตรขึ้นเครื่องบิน จนกระทั่ง นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษเมื่อ ค.ศ.2019 ประกาศว่า อังกฤษกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่เพิ่มความปลอดภัยและความรวดเร็วในการตรวจสอบก่อนขึ้นเครื่องบิน หากเป็นไปตามที่รัฐบาลอังกฤษได้วางแผนไว้ เทคโนโลยีที่ว่าก็จะช่วยให้ ICAO สามารถยกเลิกกฎระเบียบเรื่องห้ามนำของเหลวขึ้นเครื่องบินได้ ความก้าวหน้าในเรื่องนี้สำคัญถึงขนาดได้รับการบรรจุเป็นวาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอังกฤษ ในกรณีที่จะต้องให้สนามบินทั่วสหราชอาณาจักรสามารถยกเลิกกฎการห้ามพกของเหลวขึ้นเครื่องให้ได้ภายใน ค.ศ.2024
อุปกรณ์ที่จะใช้ในการตรวจสอบเป็นเครื่องซีทีสแกนที่มีลักษณะคล้ายอุปกรณ์สแกนอวัยวะและร่างกายของมนุษย์ที่ใช้ในโรงพยาบาล เครื่องซีทีสแกนที่มีการพัฒนานี้จะเผยให้เห็นถึงรายละเอียดได้อย่างชัดเจนมากกว่าเครื่องสแกนแบบเดิม โดยแท้ที่จริง เครื่องซีทีสแกน แบบใหม่นี้ได้ถูกนำมาทดลองใช้ที่สนามบินฮีทโธรว์มาตั้งแต่ ค.ศ.2017 และขณะนี้รัฐบาลอังกฤษกำลังสั่งให้มีการทยอยตั้งเครื่องซีทีสแกนให้ครบทุกสนามบินหลักของสหราชอาณาจักร
...
ไม่เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น สนามบินของหลายประเทศที่ยกเลิกกฎการพกพาของเหลวแล้วมีหลายแห่ง เช่น สนามบินฮีทโธรว์ (อังกฤษ) สนามบินลอนดอนซิตี้ (อังกฤษ) สนามบินอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮล (เนเธอร์แลนด์) สนามบินฮาร์ตสฟีลด์-แจ็กสัน แอตแลนตา (สหรัฐฯ) สนามบินโอแฮร์ ชิคาโก (สหรัฐฯ) ฯลฯ
เครื่องสแกน 3 มิติหรือเครื่องซีทีสแกนมีระดับความแม่นยำในการประมวลผลผ่านการเอกซเรย์ แถมยังสามารถแยกความแตกต่างระหว่างของเหลวที่เป็นอันตรายและของเหลวที่ปลอดภัยได้อีกด้วย ทำให้ผู้โดยสารสามารถพกพาของเหลวได้มากสุดถึง 2 ลิตร ไม่ต้องใส่อุปกรณ์อาบน้ำแยกขวดแบบขนาดพกพา ผู้โดยสารสามารถใส่แล็ปท็อปและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น (เช่น เพาเวอร์แบงก์) ในกระเป๋าโดยไม่ต้องเสียเวลานำออกมาใส่กระบะแยกเฉพาะ
เขียนถึงเรื่องการตรวจที่สนามบิน ผมนึกถึงนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่เตือนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศไปเที่ยวเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น แล้วนำพวกผลไม้สด เช่น พลับ องุ่น เข้าประเทศว่า “การนำผลไม้สดเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่สำแดงใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านเข้าประเทศไทย เป็นสิ่งผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 (2) มาตรา 10 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ”
การนำผักผลไม้สด ยารักษาโรค หรืออาหารเข้าไปในบางประเทศโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ผู้โดยสารจำนวนหนึ่งโดนจับกุมคุมขัง บางประเทศมีโทษจำคุกในกรณีที่พบยาเสพติดผสมอยู่ในยารักษาโรค ยาบางประเภทถูกกฎหมายในบ้านเรา แต่ผิดกฎหมายในต่างประเทศ ควรเตือนลูกหลานถึงภัยจากพวกมิจฉาชีพ เคยมีสตรีไทยถูกคนรักชาวไนจีเรียหลอกให้ขนยาเสพติดและถูกจับคาสนามบิน บางท่านเพียงพูดเล่นกับเจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋าในสนามบินต่างประเทศทำนองว่า ตรวจกระเป๋าผมระวังเจอระเบิดนะ เท่านี้ก็ถูกจับ ติดคุกในต่างประเทศนานหลายเดือน.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com