นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศกล่าวว่า โลกอาจทำลายสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยใหม่ในปี 2566 หรือ 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกลับมาของปรากฏการณ์สภาพอากาศเอลนีโญตามที่คาดการณ์ไว้ 

แบบจำลองภูมิอากาศชี้ให้เห็นว่าหลังจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทำให้อุณหภูมิโลกลดต่ำลงเล็กน้อย โลกจะกลับคืนสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้สภาพอากาศร้อนขึ้นอีกในปลายปีนี้

ในช่วงเอลนีโญ ลมที่พัดไปทางทิศตะวันตกตามแนวเส้นศูนย์สูตรจะพัดช้าลง และกระแสน้ำอุ่นจะถูกผลักไปทางตะวันออก ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น

คาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการศูนย์บริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของสถาบันโคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรป กล่าวว่า "เอลนีโญมักมีความเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิที่ทำลายสถิติในระดับโลก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในปี 2566 หรือ 2567 ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เขาคิดว่าน่าจะเป็นไปได้มากกว่า"

เขากล่าวว่า แบบจำลองสภาพภูมิอากาศบ่งชี้ว่า สภาวะเอลนีโญจะกลับคืนสู่ช่วงปลายฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ และมีความเป็นไปได้ที่เอลนีโญจะรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี

ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์จนถึงขณะนี้คือปี 2559 ซึ่งตรงกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะกระตุ้นให้อุณหภูมิสูงขึ้นแม้ในช่วงหลายปีที่ไม่มีปรากฏการณ์นี้ก็ตาม

8 ปีที่ผ่านมาเป็น 8 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มภาวะโลกร้อนในระยะยาวซึ่งได้แรงหนุนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เฟรเดอริก ออตโต อาจารย์อาวุโสของสถาบันแกรนแธม มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า อุณหภูมิที่เกิดจากเอลนีโญ อาจทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่กำลังประสบอยู่ รวมถึงคลื่นความร้อนรุนแรง ภัยแล้ง และไฟป่า ออตโตกล่าวว่า "หากเกิดเอลนีโญ มีโอกาสอย่างมากที่ปี 2566 จะร้อนกว่าปี 2559 เมื่อพิจารณาว่าโลกยังคงร้อนขึ้นในขณะที่มนุษย์ยังคงเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล" 

...

นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันสถาบันโคเปอร์นิคัส เผยแพร่รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ประเมินสภาพอากาศสุดขั้วที่โลกประสบเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ในประวัติศาสตร์

ยุโรปประสบกับฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปากีสถาน และในเดือนกุมภาพันธ์ ระดับน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกาแตะระดับต่ำเป็นประวัติการณ์

สถาบันโคเปอร์นิคัสกล่าวว่า อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยขณะนี้สูงกว่าในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียส แม้ว่าผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่ของโลกส่วนใหญ่จะให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซสุทธิให้เหลือศูนย์ในที่สุด แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกในปีที่แล้วยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง.