ตู้ขายของอัตโนมัติของญี่ปุ่นซึ่งจำหน่ายเนื้อวาฬ หอยทากในกระป๋อง หรือแมลงที่กินได้ มีเมนูใหม่นั่นคือเนื้อหมีป่า

เว็บไซต์ มาอินิชิ ชิมบุน รายงานว่า เนื้อหมีดำในท้องถิ่นในหลากหลายรูปแบบมีจำหน่ายจากตู้จำหน่ายอัตโนมัติในเมืองเซมโบกุในจังหวัดอากิตะ โดยลูกค้าสามารถซื้อเนื้อติดมันหรือไม่ติดมันได้ในราคาประมาณ 2,200 เยน หรือราว 572 บาท ต่อน้ำหนัก 250 กรัม

แม้หมีดำเอเชียจะถูกจัดอยู่ในสัตว์กลุ่มเสี่ยงในระดับสากล แต่ญี่ปุ่นกล่าวว่าจำกัดจำนวนที่สามารถล่าได้

ตู้จำหน่ายเนื้อหมีดำเนินการโดยร้านอาหารท้องถิ่น "โซบะ โกโระ" สามารถขายเนื้อหมีได้ประมาณ 10-15 แพ็กต่อสัปดาห์ จากหมีที่ถูกสังหารโดยนักล่าในท้องถิ่นจากภูเขาที่อยู่ใกล้เคียง และจะหมดสต๊อกหากช่วงฤดูล่าสัตว์ถูกจำกัดให้อยู่ในช่วงสั้นๆ

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีตู้ขายของอัตโนมัติต่อประชากรจำนวนมากที่สุดในโลก โดยตั้งอยู่ทุกที่ ตั้งแต่ตรอกซอกซอยเล็กๆ ไปจนถึงหมู่บ้านห่างไกล ตู้ขายของอัตโนมัติ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ "จิโด ฮันไบกิ" กลายเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 1960 และถือเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น ตู้ขายของอัตโนมัติจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่อาหารหลัก เช่น เครื่องดื่มร้อนและเย็น ไปจนถึงแมลงที่กินได้และแฮมเบอร์เกอร์

เมื่อเดือนมกราคม เกิดความขัดแย้งขึ้นเมื่อร้านค้าไร้คนขายในเมืองโยโกฮามา ตั้งเครื่องขายอัตโนมัติ 3 เครื่องที่จำหน่ายเนื้อวาฬหลากหลายชนิดในราคาเพียง 1,000 เยน

โดยตู้ขายเนื้อหมีอัตโนมัติในเมืองเซมโบกุ ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสถานีทาซาวาโกะ ซึ่งเป็นจุดจอดของรถไฟชินคันเซ็น รวมถึงรถไฟสายอื่นๆ และผู้ที่ซื้อเนื้อหมีส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมากับรถไฟชินคันเซ็น

นักล่าที่มีใบอนุญาตได้รับอนุญาตให้ยิงและฆ่าหมีในญี่ปุ่นได้ แต่เนื่องจากเนื้อหมีถือเป็นอาหารอันโอชะของที่นี่ จึงไม่มีจำหน่ายทั่วไปตามร้านอาหารทั่วไปในกรุงโตเกียว

...

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการติดตั้งเครื่องขายเนื้อหมีเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผู้ดำเนินการติดตั้งกล่าวว่า พวกเขาได้รับการสอบถามเป็นจำนวนมากจากภูมิภาคคันโตโดยรอบกรุงโตเกียว

ตัวแทนของร้านโซบะ โกโระ กล่าวต่อมาอินิชิ ชิมบุนว่า เนื้อหมีมีรสชาติที่สะอาด และไม่แข็งแม้นำไปแช่เย็น สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายเมนู ตั้งแต่สตูว์ไปจนถึงสเต็ก

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หมีเริ่มออกจากป่าและเข้าเมืองมากขึ้น เนื่องจากพวกมันไม่มีอาหาร พวกเขาเสริมว่าประชากรมนุษย์ในญี่ปุ่นลดน้อยลง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ก็เป็นปัจจัยหนึ่งเช่นกัน สัตว์เหล่านี้ถูกดึงดูดไปยังพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่เบาบาง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อคนในท้องถิ่น

มีรายงานประชาชนถูกหมีทำร้าย 5 ครั้งในจังหวัดมิยางิตอนเหนือของญี่ปุ่น ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน 2565 โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 คน ซึ่งนับว่าเป็นการโจมตีที่มากที่สุดนับตั้งแต่จังหวัดเริ่มเก็บบันทึกข้อมูลในปี 2544

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมระบุว่า การโจมตีของหมีที่อันตรายที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งเรียกโดยรวมว่าเหตุการณ์ซังเคเบตสึ หมีสีน้ำตาลขนาด 2.7 เมตร หนักกว่า 300 กิโลกรัมได้สังหารชาวบ้าน 7 คนและบาดเจ็บอีก 3 คนบนเกาะฮอกไกโดในปี 2458 หมีถูกติดตามและถูกยิงตายโดยนักล่า

ตามรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อม หมี ระหว่าง 3,000 ถึง 7,000 ตัวถูกฆ่าตายในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเผชิญหน้าระหว่างมนุษย์และสัตว์มีมากขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่นจำกัดจำนวนหมีดำที่สามารถล่าได้ไว้ที่ 12% ของประชากรหมีโดยประมาณ โดยคาดว่ามีประชากรหมีดำในญี่ปุ่นประมาณ 15,000 ตัว.