นักวิทยาศาสตร์รู้มาสักพักแล้วว่าแบคทีเรียในดินสามารถใช้ไฮโดรเจนในอากาศเป็นแหล่งพลังงานเพื่อช่วยให้พวกมันเติบโตและอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะในดินของทวีปแอนตาร์กติก ดินปล่องภูเขาไฟ หรือส่วนลึกของมหาสมุทร ทว่านักวิทยาศาสตร์ก็ยังมืดมนว่าแบคทีเรียทำสิ่งนี้ได้อย่างไร

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาช ในนครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ได้ค้นพบเอนไซม์ที่เปลี่ยนอากาศเป็นกระแสไฟฟ้า เชื่อว่าอาจปลดล็อกแหล่งพลังงานสะอาดที่แทบไม่มีขีดจำกัด เอนไซม์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Huc นักวิทยาศาสตร์เผยว่ามันมีความเสถียรอย่างน่าอัศจรรย์ และมีประสิทธิภาพที่ไม่ธรรมดาในการสร้างพลังงานจากอากาศ นักวิจัยระบุว่า Huc ไม่เหมือนกับเอนไซม์และตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีอื่นๆที่รู้จักกัน มันกินไฮโดรเจนต่ำกว่าระดับชั้นบรรยากาศเพียง 0.00005% ของอากาศที่เราหายใจเข้าไป ซึ่งการทดลองพบว่าสามารถเก็บเอนไซม์ Huc บริสุทธิ์ไว้ได้นานในอุณหภูมิเยือกแข็งหรือสูงถึง 80 องศาเซลเซียส โดยไม่สูญเสียพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า

การประยุกต์ใช้เอนไซม์ Huc ที่เทียบได้กับมีแบตเตอรี่ธรรมชาติ เมื่อใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ขนาดเล็กเพื่อใช้พลังงานจากอากาศ ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและอาจนำมาแทนที่อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้.