- หลี่ เฉียง อดีตหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครเซี่ยงไฮ้ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีนแล้ว ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติประจำปี 2566 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
- สี จิ้นผิง ผู้กำลังพยายามรวมศูนย์อำนาจของตัวเอง เลือก หลี่ เฉียง ผู้ภักดีต่อตัวเขามานานร่วม 20 ปี ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนที่หลี่ เค่อเฉียง ผู้ไม่ค่อยเชื่อฟัง
- นายหลี่ได้รับการยอมรับอย่างมากในเรื่องทัศนคติทางธุรกิจของเขา แต่สิ่งที่รอเขาอยู่คือภารกิจหนักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ที่เสียหายเพราะนโยบายทำให้โควิดเป็นศูนย์ ซึ่งใช้มายาวนานเกือบ 3 ปี
นาย หลี่ เฉียง อดีตหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครเซี่ยงไฮ้ วัย 63 ปี ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ครองอำนาจสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศจีนแล้ว ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติประจำปี 2566 เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา
นอกประเทศจีนคงแทบไม่มีใครเคยได้ยินชื่อของ หลี่ เฉียง จนกระทั่งในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน โลกได้เห็นเขาเดินตามหลัง สี จิ้นผิง ขึ้นเวทีของมหาศาลาประชาคม ในฐานะบุคคลลำดับ 2 ของคณะกรรมการถาวรโปลิตบูโร ซึ่งเป็นการบอกใบ้ว่า เขาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปแทนที่ หลี่ เค่อเฉียง ที่จะลงจากตำแหน่งหลังครบวาระ 2 สมัย
หลายปีที่ผ่านมา สี จิ้นผิง พยายามผลักดันผู้จงรักภักดีต่อตัวเขาให้เข้ารับตำแหน่งสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์และของประเทศมาตลอด เพื่อรวมศูนย์อำนาจหลังจากเมื่อวันศุกร์ (10 มี.ค. 2566) เขาได้รับเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของแดนมังกรเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หนึ่งในนั้นคือ หลี่ เฉียง ชายผู้ถูกมองว่าเป็นนักปฏิบัตินิยมและเป็นมีนโยบายเป็นมิตรต่อธุรกิจ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีนจะต้องเผชิญงานหนักทันทีหลังรับตำแหน่ง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่เสียหายเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 กับมาตรการควบคุมอันเข้มงวด
...
นักการเมืองผู้เป็นมิตรต่อธุรกิจ
หลี่ เฉียง เป็นนักการเมืองมาตลอดเกือบทั้งชีวิตของเขา หลังจากเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2526 ขณะมีอายุเพียง 24 ปี และไต่เต้าขึ้นไปจนถึงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำเมืองเวินโจว ตอนมีอายุ 43 ปี
จากนั้นในปี 2547 หลี่ เฉียง กลายเป็นเลขาธิการทั่วไปของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลเจ้อเจียง และได้ตำแหน่งในคณะกรรมการถาวรในปีต่อมา ภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง ที่ในขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ้อเจียง โดยนายหลี่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของนายสีตั้งแต่ปี 2547-2550 และว่ากันว่า นี่คือจุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จทางการเมืองของนายหลี่
ในปี 2556 หน้าที่การงานของ หลี่ เฉียง ก้าวหน้าจนได้เป็นผู้ว่าการมณฑลเจ้อเจียง และเป็นจนถึงปี 2559 โดยในระหว่างนั้น เขาสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองในฐานะนักการเมืองผู้เป็นมิตรต่อธุรกิจ ริเริ่มโครงการสร้างเมืองขนาดเล็กที่มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการทำธุรกิจ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจาก สี จิ้นผิง จนโครงการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของจีน
เมื่อเข้าสู่ปี 2559 นายหลี่ได้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลเจียงซูอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคประจำนครเซี่ยงไฮ้ และเป็นสมาชิกโปลิตบูโรในปีต่อมา ซึ่งนายหลี่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากเรื่องทัศนคติทางธุรกิจ เขาเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในเมืองมากมาย และถึงขั้นทำให้บริษัท เทสลา สามารถตั้งโรงงานขนาดยักษ์นอกสหรัฐฯ เป็นแห่งแรกได้ และเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ต่างชาติแห่งแรกในจีนที่เจ้าของเป็นต่างชาติ 100%
ต่อมาในปี 2562 หลี่ เฉียง เปิดตลาด STAR market เป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ของเซี่ยงไฮ้ โดยตลาดนี้ถูกยกไปเปรียบเทียบกับ แนสแด็ก ของสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่บริษัทเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ และมีเป้าหมายคือ ส่งเสริมการขยายตัวแก่ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงของจีนให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด
นายหลี่ยังมีนโยบายที่ได้เสียงตอบรับที่ดีมากมาย เช่น ลดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการขอในอนุญาตอยู่อาศัยสำหรับผู้อพยพภายในประเทศ และสร้างเมืองใหม่ 5 แห่ง เพื่อลดการขาดแคลนอุปทานที่ดินของเซี่ยงไฮ้
สี จิ้นผิง ต้องการผู้ภักดี
นายหลี่เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของจีนที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมาก่อน และขาดประสบการณ์การบริหารส่วนภูมิภาคโดยเฉพาะในพื้นที่ยากจน ซึ่งเป็นเหมือนประเพณีที่ต้องทำก่อนจะรับตำแหน่งระดับสูงภายในพรรค
ชื่อเสียงของนายหลี่ยังมัวหมองจากการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์อันวุ่นวายนานร่วม 2 เดือนในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งทำให้เกิดการกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชน ถึงขั้นมีการเดินขบวนประท้วงที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศจีน การล็อกดาวน์ยังทำให้การผลิตและการส่งออกของเมืองได้รับผลกระทบอย่างหนักอีกด้วย
ก่อนการมาของนายหลี่ ตัวเก็งที่ผู้สังเกตการณ์นานาชาติคาดว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของจีนคืออดีตรองนายกรัฐมนตรี หวัง หยาง แต่ติดปัญหาเดียวคือ เขามาจากกลุ่มสันนิบาตเยาวชนจีน ที่นายสีมองว่าเป็นภัยต่อการปกครองของเขา การแต่งตั้งนายหลี่จึงแสดงให้เห็นว่า นายสีให้ความสำคัญกับความภักดีและความน่าเชื่อถือเหนือสิ่งอื่นใด
ในฐานะนายกรัฐมนตรี นายหลี่จะเป็นผู้ดูแลการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีน ซึ่งบอบช้ำอย่างหนักจากการบังคับใช้นโยบายทำให้โควิดเป็นศูนย์ หรือ ซีโร่โควิด ต่อเนื่องเกือบ 3 ปี ท่ามกลางความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่เสริมถอยลง หลายคนจึงคาดหวังว่านายหลี่ ผู้มีชื่อเสียงด้านธุรกิจจะสามารถพาจีนออกจากปัญหานี้ได้
นักวิเคราะห์คาดว่า นายหลี่จะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ตามแผนพัฒนาของ สี จิ้นผิง ซึ่งระบุไว้ในรายงานการทำงานของรัฐสภาแห่งชาติ และเขาน่าจะมีอำนาจบริหารเศรษฐกิจอย่างอิสระมากกว่านายกรัฐมนตรีคนก่อนอย่าง หลี่ เค่อเฉียง ที่นายสีไม่ค่อยถูกใจ
อย่างไรก็ตาม ศ.เฉิน เต้าหยิน จากมหาวิทยาลัยรัฐวิทยาศาสตร์และนิติศาสตร์เซี่ยงไฮ้ เชื่อว่า นายหลี่จะไม่ทำอะไรเกินตัว หรือขัดต่อคำสั่งของนายสี “บทบาทของนายกรัฐมนตรีในยุคของนายสีนั้น กลายเป็นผู้ลงมือปฏิบัติตามการตัดสินใจของเขาไปแล้ว สิ่งที่นายสีต้องการคือผู้บังคับใช้นโยบายที่เข้มแข็ง และนายหลี่ก็พิสูจน์แล้วในการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ว่า เขาคือผู้คุมกฎที่ซื่อสัตย์ต่อนโยบายซีโร่โควิดของนายสี”
ด้านนาย วิลลี แลม นักวิเคราะห์อาวุโสจากมูลนิธิ Jamestown Foundation คณะวิจัยในกรุงวอชิงตัน ดีซี กล่าวว่า นายหลี่รู้ดีว่าเขาถึงจุดนี้ได้เพราะนายสี “หลี่ไม่มีความสำเร็จทางการเมืองเป็นพิเศษที่สามารถหนุนหลังเขาได้ เขาจึงรู้ตัวดีว่า เขาติดค้างตำแหน่งของเขาต่อนายสี ดังนั้น ไม่ว่านายสีจะบอกให้เขาทำอะไร เขาก็จะทำ เขาจะแตกต่างจาก หลี่ เค่อเฉียงมาก เขาจะทำตามที่นายสีบอก 100%”
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : indianexpress , theguardian
...