นักดาราศาสตร์ พบ'โลก'อีกใบ.. เจอ 'ดาวเคราะห์คล้ายโลก' ในแถบที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ห่างจากโลกแค่ 31 ปีแสงเท่านั้น อีกทั้งยังมีขนาดใกล้เคียงกับโลก ตั้งชื่อว่า 'Wolf1069b'
สื่อต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักดาราศาสตร์พบ ‘ดาวเคราะห์คล้ายโลก’ ดวงใหม่ ที่เอื้อต่อการมีชีวิต อยู่ในจักรวาลใกล้เคียง โดยห่างจากโลกของเราเพียง 31 ปีแสง หรือประมาณ 186 ล้านล้านไมล์ (ราว 2.99 ล้านล้านกิโลเมตร) ซึ่งเป็นระยะทางที่ดูเหมือนใกล้สำหรับมาตรฐานการพบดาวเคราะห์คล้ายโลกในจักรวาลอันไกลโพ้น และวันหนึ่งข้างหน้าสามารถนำไปสู่การค้นหาสัญญาณที่เป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิต
การพบดาวเคราะห์คล้ายโลกดวงใหม่นี้ สร้างความตื่นเต้นให้แก่บรรดานักดาราศาสตร์อย่างมาก เพราะดาวเคราะห์คล้ายโลกดวงนี้ ยังมีขนาดเท่าโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ยาก และอยู่ในโซนของกลุ่มดาวที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต
Diana Kossakowski นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันมิกซ์พลังค์เพื่อดาราศาสตร์ (Max Planck Institute for Astronomy) หรือ MPIA ในเยอรมนี เป็นหัวหน้ากลุ่มนักดาราศาสตร์ที่พบดาวเคราะห์หินคล้ายโลกดวงนี้ และตั้งชื่อให้ว่า 'Wolf1069b'
ทีมนักดาราศาสตร์ได้พบดาวเคราะห์คล้ายโลกดวงนี้อยู่ใกล้กับดาวแคระแดง (คือดาวฤกษ์ที่มีอุณหภูมิพื้นผิวและความส่องสว่างน้อยกว่าดวงอาทิตย์) ที่ถูกตั้งชื่อ “Wolf 1069” จึงทำให้นักดาราศาสตร์ตั้งชื่อดาวเคราะห์คล้ายโลกที่เพิ่งพบนี้ ว่า “Wolf 1069b” และมีขนาด 1.36 เท่าของโลก
นักดาราศาสตร์พบว่า ดาวเคราะห์คล้ายโลก “Wolf 1069b” ใช้เวลาโคจรรอบดาวแคระแดง “Wolf 1069” เป็นเวลา 15.6 วัน ซึ่งเป็นระยะห่างเท่ากับหนึ่งใน 15 ของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ อีกทั้งดาวเคราะห์ “Wolf 1069b” ได้รับแสงจากดาวแคระแดงถึงประมาณ 65% เมื่อเทียบกับแสงที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ จึงถือว่าร้อนมากสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต หากดาวแคระแดงคล้ายกับพระอาทิตย์
...
อย่างไรก็ตาม ดาวแคระแดงทั้งหลายมีขนาดเล็กกว่าและเย็นกว่าดวงอาทิตย์ของเรามาก ซึ่งนั่นหมายถึงโซนที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยแห่งนี้ จึงมีความสำคัญต่อดาวเคราะห์ที่จะอยู่ใกล้กับดาวแคระแดงมากกว่าดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลของเรา
การค้นพบนี้เกิดจากเครื่องมือที่มีชื่อว่า CARMENES ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาด 3.5 เมตร ที่หอดูดาว Calar Alto ประเทศสเปน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ระยะยาวในการตามล่าดาวเคราะห์มากมายที่โคจรรอบดาวแคระแดง 300 ดวง.
ที่มา :sacbee, sciencealert
Cr ภาพ : NASA