ธรรมชาติและมนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี่คือความเชื่อที่สืบทอดกันมายาวนานตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน โดย “คัมภีร์หวงตี้เนจิง” แบ่งเวลา 1 วัน ออกเป็น 12 ชั่วยาม โดย 1 ชั่วยาม จะเท่ากับ 2 ชั่วโมง หากต้องการมีสุขภาพแข็งแรงจะต้องปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามนาฬิกาชีวิตให้สอดคล้องกับการทำงานของเส้นลมปราณหลัก 12 เส้น ที่เชื่อมโยงกับอวัยวะต่างๆในร่างกาย
“ยามจื่อ” ช่วงเวลา 23.00-01.00 น. เป็นเวลาทำงานของ “ถุงน้ำดี” โดยจะเก็บน้ำดีที่ได้จากตับและส่งน้ำดีมาช่วยย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาที่ควรเข้านอน หากนอนหลับในยามจื่อได้เต็มที่จะทำให้ถุงน้ำดีมีพลัง สมองโล่งปลอดโปร่ง แจ่มใส และใต้ตาไม่คล้ำ แต่ใครที่นอนไม่หลับในยามจื่อ มักตื่นเช้ามาด้วยอาการง่วงเหงาหาวนอนและมึนงง เสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี
“ยามโฉ่ว” ช่วงเวลา 01.00-03.00 น. เป็นเวลาของ “ตับ” เริ่มทำหน้าที่กำจัดสารพิษในร่างกาย ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยนำมาสังเคราะห์เก็บสะสมไว้ในรูปไกลโคเจนและสร้างน้ำดีมาเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่า ตับเป็นที่เก็บกักเลือด หากนอนหลับสนิทในยามโฉ่ว เลือดจะไหลเวียนมาที่ตับ สามารถเพิ่มพลังชี่ของตับได้ เวลาตีสองถือเป็นช่วงเวลาทองที่สุด เพราะร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินได้สูงสุด ตรงกันข้ามหากไม่สามารถนอนหลับในยามโฉ่ว ตับจะไม่สามารถเผาผลาญพลังงานและกำจัดพิษได้ตามปกติ ส่งผลให้เสี่ยงเป็นโรคตับ อารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย ใบหน้าหมองคล้ำ เกิดกระฝ้าจุดด่างดำ
“ยามอิ่น” ช่วงเวลา 03.00-05.00 น. ต้องหลับลึกเพื่อให้ “ปอด” เปิดรับพลังบริสุทธิ์ ปอดเป็นจุดเริ่มต้นและรวบรวมพลังของชี่และเลือด ขณะที่ตับทำหน้าที่กักเก็บเลือด สลายเซลล์เม็ดเลือดแดง แล้วนำเลือดใหม่ส่งไปยังปอด ปอดจึงเป็นศูนย์รวมหลอดเลือดนับร้อยและเป็นจุดแลกเปลี่ยนออกซิเจน เพื่อส่งไปเลี้ยงทั่วร่างกาย หากนอนหลับได้ลึกในยามอิ่น ตื่นเช้ามาจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าแจ่มใส
...
“ยามเหม่า” ช่วงเวลา 05.00-07.00 น. ดื่มน้ำอุ่นช่วยขับถ่ายอุจจาระ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ “ลำไส้ใหญ่” ควรตื่นนอนตั้งแต่เวลาตีห้าและขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายให้หมด เพื่อไม่ให้เกิดสารพิษสะสมในร่างกาย ปอดและ
ลำไส้ใหญ่จะทำงานสัมพันธ์กัน ถ้าพลังปอดดีจะขับถ่ายได้ดี เวลาถ่ายอุจจาระจะมีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด ช่วงเวลานี้ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อช่วยกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น
“ยามเฉิน” ช่วงเวลา 07.00-09.00 น. เป็นเวลาทำงานของ “กระเพาะอาหาร” จึงควรทานอาหารเช้า เพื่อบำรุงและปกป้องชี่ของกระเพาะอาหาร เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายสามารถย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารต่างๆได้ดีที่สุด มื้อเช้านับเป็นมื้อสำคัญมาก เพราะช่วยเติมพลังงานให้สมองและหัวใจ ให้สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งวัน ช่วยป้องกันให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน คนที่ไม่ทานอาหารเช้าติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีอาการอ่อนเพลีย ขี้หลงขี้ลืม เชื่องช้า และขาดสมาธิ
“ยามซื่อ” ช่วงเวลา 09.00-11.00 น. เป็นเวลาของ “ม้าม” ทำหน้าที่ควบคุมการขนส่ง ควบคุมเลือด ควบคุมการย่อย การดูดซึม ตลอดจนกระจายสารอาหารและน้ำไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ม้ามยังเป็นพระเอกสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย กำจัดเม็ดเลือดแดงเสื่อมสภาพ ยามซื่อนี้ร่างกายมักมีความตื่นตัวมากกว่ายามอื่นๆ จึงเหมาะแก่การทำงานและทำกิจกรรม แต่ควรออกกำลังกายและเคลื่อนไหวแค่เพียงเล็กน้อย
ฟังเสียงธรรมชาติเยอะๆ และลองปรับเปลี่ยนนาฬิกาชีวิตดู สัปดาห์หน้ามาค้นหาเคล็ดลับที่เหลือในการสร้างสุขภาพดีเพื่ออายุยืนยาวกัน.
มิสแซฟไฟร์