ปัจจุบันแป้งประมาณ 60% ถูกใช้ในอาหารสัตว์ ส่วน 30% ใช้สำหรับการบริโภคในมนุษย์ และ 10% ใช้ในทางการแพทย์ แต่ก็มีนักวิจัยแนะว่าอาจต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อแป้ง ที่มักจะถูกมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร มีการคิดค้นว่าวัสดุที่ทำจากแป้ง น่าจะทำไปพัฒนาสร้างเซ็นเซอร์แบบอ่อนที่สวมใส่เพื่อติดตามสุขภาพของคนเรา เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบนิ่มและยืดได้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรีไซเคิล เป็นผลให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มักจะจบลงด้วยการฝังกลบหรือสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน ในเนเธอร์แลนด์ รายงานลงวารสาร ACS Applied Materials & Interfaces เผยว่า ได้พัฒนาสร้างวัสดุโพลิเมอร์ใหม่ โดยอาศัยโครงสร้างหลักของคาร์โบไฮเดรต เดกซ์ทรินที่ได้จากแป้ง ทำให้สามารถสร้างวัสดุอ่อนที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพอย่างสมบูรณ์สำหรับการใช้งานกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ เพื่อนำวัสดุใหม่นี้ไปใช้ประโยชน์กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ เช่น ใช้กับนาฬิกาอัจฉริยะให้สัมผัสกับผิวหนัง ใช้กับเซ็นเซอร์ในรองเท้าหรือเสื้อผ้า หรือกับหน้าจอสมาร์ทโฟน
ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า โพลิเมอร์ใหม่นี้มีความอ่อนนุ่ม ยืดได้ และเป็นไดอิเล็กตริก (Dielectric) ที่มีการนำไฟฟ้าต่ำ นั่นหมายความว่าเซ็นเซอร์สามารถชาร์จตัวเองด้วยไฟฟ้าที่เกิดจากการสัมผัสกับวัสดุอื่นๆ เช่น การถูกับผ้า.
Credit : Xiaohong Lan, University of Groningen