ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การปรับตัวจึงถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มิฉะนั้นอาจถูกลบเลือนหายไปตามสัจธรรมของกาลเวลา

เฉกเช่นราชวงศ์ “วินด์เซอร์” แห่งสหราชอาณาจักร ที่ผ่านพ้นรัชสมัยอันรุ่งโรจน์ของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียในศตวรรษที่ 19 เข้าสู่ยุคแห่งไฟสงครามและการต่อสู้ทางการเมืองในศตวรรษที่ 20 ทั้งมหาสงครามสงครามโลกครั้งที่ 2 และค่ายประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ ซึ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยงสูงในเรื่อง “ความอยู่รอด” และหากเดินหมากผิดอาจกลายเป็นเพียงแค่ตัวอักษรในบันทึกประวัติศาสตร์

ด้วยเหตุนี้ เส้นทางบัลลังก์ของสมเด็จพระราชินีนาถ “เอลิซาเบธที่ 2” จึงเต็มไปด้วยอุปสรรคและอันตรายรอบด้าน นับตั้งแต่สืบทอดอำนาจศักดิ์สิทธิ์จากพระราชบิดา พระเจ้าจอร์จที่ 6 อย่างกะทันหันในปี 2495 หรือคริสต์ศักราช 1952 ที่กำลังเป็นช่วงพีกของอุดมการณ์โลกสองขั้ว ค่ายหนึ่งมุ่งเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ โอกาสความเจริญก้าวหน้า ขณะที่อีกค่ายหนึ่งมุ่งเน้นความเท่าเทียม ไม่ควรมีใครอยู่เหนือกว่าใคร

...

เป็นที่รับรู้กันมาช้านานว่า สถาบันถือเป็นสิ่งที่มิอาจก้าวล่วง เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและการปกครองที่พระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้ประทานพรลงมา ไม่มีคำว่า “ใครก็เป็นได้” ดังนั้น หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า แนวคิดทางการเมืองทั้งสองรูปแบบนั้นแทบจะไม่มีที่ยืนให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ประกอบด้วยการสนับสนุนจาก “เจ้าชายฟิลิป” ดยุกแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามีผู้เป็นที่รักยิ่ง ได้ส่งผลให้ราชวงศ์วินด์เซอร์มีบทบาทอย่างชัดเจนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคศตวรรษที่ 20 สนับสนุนความมี “ประสิทธิภาพ” ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร รักษาไว้ซึ่ง “ความเป็นปึกแผ่น” ของเครือจักรภพและ “ความทรงเกียรติ” ของสถาบัน

แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะย่อมหมายถึงการเข้าไปปรับเปลี่ยนแก้ไข “โปรโตคอล” กระบวนการต่างๆที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล แต่ด้วยพระปณิธานอันแรงกล้าของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จึงทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปทีละเล็กละน้อย

ไล่ตั้งแต่การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การพระราชทานคำอวยพรวันคริสต์มาส การเปิดพระราชวังบั๊กกิ้งแฮมต้อนรับผู้ประกอบอาชีพสาขาต่างๆ จากเดิมที่จะมีแต่ชน

...

ชั้นสูงไปจนถึงการให้สื่อมวลชนถ่ายทำชีวิตในรั้ววังและทรงปฏิบัติตามข้อเสนอแนะและข้อติเตียนที่สะท้อนถึงความเป็นจริง

การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 8 ก.ย. ส่งผลให้ “สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3” เสด็จขึ้นครองบัลลังก์ภายใต้ร่มเงาแห่งบารมีอันยิ่งใหญ่ของพระราชมารดา ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง ภาวะเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจย่ำแย่ ผลโพลยังซ้ำเติมว่าพระองค์ได้รับความนิยมจากประชาชนก่อนขึ้นครองราชย์เพียง 39% เป็นรองเจ้าชายวิลเลียม พระโอรส และแคทเธอรีน พระสุณิสา เนื่องด้วยผลจาก “สงครามแห่งเวลส์” กรณีเจ้าหญิงไดอานาในอดีตที่ยังตามหลอกหลอน

...

กระนั้น พระองค์ทรงลบคำปรามาสทั้งหลายลงทีละน้อย เมื่อพระราชพิธีพระบรมศพพระมารดาจบลงอย่างยิ่งใหญ่งดงามสมพระเกียรติ ประชาชนที่เฝ้าชมพระราชพิธีเพื่อถวายอาลัยครั้งสุดท้ายยังได้สัมผัสแง่มุมความเป็น “มนุษย์ปุถุชน” ของพระองค์ที่ไม่ค่อยปรากฏนัก จากภาพทรงกรรแสงแสดงอารมณ์สะเทือนใจไปจนถึงพระราชดำรัสครั้งแรกต่อพสกนิกรในฐานะกษัตริย์องค์ใหม่ ย้ำว่าจะทรงสานต่อการรับใช้ปวงชนตลอดพระชนม์ชีพ

ในรายการพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 100 ปีของบีบีซี ผู้ชมชาวอังกฤษต่างยกย่องถึงพระอารมณ์ขัน รวมทั้งแง่มุมอบอุ่นอ่อนไหวนอกเหนือจากความประทับใจในความ “มัธยัสถ์” ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เล็งเห็นคุณค่าของการฟื้นฟูงานศิลปะประดิษฐ์และซ่อมแซมสิ่งของต่างๆด้วย 2 มือ ยังทรงตรัสแนะว่าอังกฤษขาดการศึกษาด้านอาชีวศึกษางานช่าง

...

เรียกเสียงบวกที่มองว่าพระองค์ทรงพระปรีชาฯ มองภาพรวมการศึกษาของชาติเฉียบคมกว่า รมว.กระทรวงศึกษาฯ พ่วงด้วยความสามารถด้านศิลปะที่ทรงโปรดการวาดภาพทิวทัศน์ด้วยสีน้ำ ทำรายได้กว่า 2 ล้านปอนด์ เข้ากองทุนการกุศลเจ้าชายแห่งเวลส์ เข้าขั้นหนึ่งในศิลปินอังกฤษที่ประสบความสำเร็จสูงสุดที่ยังมีชีวิตอยู่

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังกำหนดแนวทางลดขนาด “คนทำงาน” เพื่อความคล่องตัวของราชวงศ์ในรัชสมัยใหม่ หลักๆคือ พระองค์ สมเด็จพระราชินีคามิลลา เจ้าชายวิลเลียมและแคทเธอรีน เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พร้อมลดทอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 6 พ.ค. 2566 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ให้สะท้อนถึงบทบาทกษัตริย์ยุคใหม่และการมองการณ์ไกลสู่อนาคต ไม่ยิ่งใหญ่เท่าครั้งของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 2496 แต่จะยังยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาช้านาน

สมเด็จพระราชินีคามิลลา พระมเหสีคู่พระทัย ทรงยุติธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่ยุคกลาง ไม่มีนางสนองพระโอษฐ์ประจำพระองค์ แต่จะแต่งตั้งเพื่อนสนิท 6 คน เป็นผู้ติดตามหรือเป็นผู้ช่วยในระหว่างพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่ง Queen Companion เป็นการลดจำนวนข้าราชบริพารให้มีเท่าที่จำเป็น

ที่ถูกจับจ้องเช่นกันคือ “เจ้าชายวิลเลียม” และ “แคทเธอรีน” เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ซึ่งภาพลักษณ์และพระจริยวัตรของสมาชิกครอบครัวต่างได้รับเสียงสรรเสริญและได้คะแนนนิยม ซึ่งมีอยู่แต่ทุนเดิม ดำรงพระชนม์ชีพเรียบง่าย ไม่หวือหวาฟู่ฟ่า และปรากฏโมเมนต์ภาพน่ารักๆออกมาอย่างสม่ำเสมอ

แต่แน่นอนว่าการปรับตัวต่างๆให้เข้ากับยุคสมัยนั้น ใช่หมายความว่าจะยอมทุกเรื่อง ทุกพระองค์ยังคงพร้อมที่จะปกป้อง “เกียรติและศักดิ์ศรี” ของราชวงศ์ โดยเฉพาะกรณีล่าสุด “เจ้าชายแฮร์รี” และพระชายา “เมแกน” ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ที่ถอนตัวจากบทบาทราชวงศ์และทิ้งระเบิดลูกใหญ่ใส่ครอบครัวจากปัญหาพระชายาไม่ได้รับการเหลียวแลผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อ สารคดีเน็ตฟลิกซ์และหนังสือที่กำลังจะวางจำหน่าย

มีข่าวออกมาเป็นระยะว่า หากล้ำเส้น วังก็พร้อมจะจัดการ เสริมทัพด้วยการดึงศาสตราจารย์ด้าน “กฎหมาย” ประจำมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนมาเป็นส่วนหนึ่งในทีมราชเลขานุการส่วนพระองค์ ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่าคืออาวุธลับชิ้นสำคัญ ที่จะช่วยหนุนกำลังภายในราชวงศ์ให้แข็งแกร่งพร้อมรบในทุกสมรภูมิ

ทีมข่าวต่างประเทศ