ช่วงใกล้สิ้นปีเช่นนี้ เป็นเวลาที่หลายหน่วยงานมักสรุปเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา รวมถึงประกาศความเป็น “ที่สุดแห่งปี” ในหลากหลายแขนง ทั้ง “บุคคล” ทรงอิทธิพล ไปจนถึง “คำแห่งปี”

เมื่อต้นสัปดาห์ พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด เผยว่า “ก็อบลิน โหมด” (goblin mode) เป็นคำที่โดนใจมหาชนได้รับการโหวตถล่มทลายมากถึง 318,956 คะแนน หรือ 93% จากผู้ลงคะแนนทางออนไลน์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งหมด 340,000 คน เลือกให้ครองตำแหน่ง 2022 Oxford Word of the Year หรือ “คำแห่งปี” ประจำปี 2565

ก็อบลิน โหมด เป็นคำสแลงที่หมายถึง “พฤติกรรมที่ทำตามใจปรนเปรอตัวเอง ยังเกียจคร้าน ทำตัวไร้จุดมุ่งหมาย ไร้สุนทรียภาพและสารประโยชน์ ทำตัวเลอะเทอะ เละเทะ สกปรก ตะกละ อย่างไม่รู้สึกอับอาย หรือตะขิด ตะขวงใจในสิ่งที่กระทำ อีกทั้งยังไม่แยแสต่อความคาดหวังหรือบรรทัดฐานของสังคม” ประมาณว่า ช่างมัน ฉันไม่แคร์ เป็นด้านตรงกันข้ามกับการพยายามทำให้ตัวเองดีขึ้นอย่างสิ้นเชิง

ออกซ์ฟอร์ดระบุว่า ที่จริงแล้วมีการใช้คำนี้มานานแล้ว พบเห็นครั้งแรกบนทวิตเตอร์เมื่อปี 2552 แต่เพิ่งมาเป็นกระแสฮือฮา กลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดียก็ในเดือน ก.พ.2565 ต้นปีนี้เอง หลังจากถูกใช้ในพาดหัวข่าวปลอมที่อ้างว่า แร็ปเปอร์ดังที่เคยเป็นที่รู้จักในชื่อคานเย เวสต์ และสาวคนรักในขณะนั้นชื่อ จูเลีย ฟอกซ์ เลิกกันหลังจากที่เธอ “เข้าสู่ก็อบลิน โหมด” จากนั้นก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั้งในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ และพุ่งสูงขึ้นหลังจากมาตรการล็อกดาวน์จากโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายในหลายประเทศ ทำให้ผู้คนเริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น

...

ส่วนคำว่า “เมตาเวิร์ส” (metaverse) ที่อธิบายถึง “สภาพแวดล้อมเสมือนจริง และ #IStandWith แฮชแท็กที่ถูกใช้บนโซเชียลมีเดียเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือเฉพาะกลุ่มหรือตัวบุคคล เช่น #IStandWithUkraine หรือ #Stand WithUkraine เพื่อให้กำลังใจชาวยูเครนที่ถูกกองทัพรัสเซียปฏิบัติการพิเศษทางทหารโจมตียับเยินตั้งแต่เดือน ก.พ. ได้รับคะแนนโหวตตามหลังมาห่างๆในอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ

สัปดาห์ก่อน พจนานุกรมเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ให้คำว่า “แก๊สไลติ้ง” (gaslighting) การควบคุมจิตใจ บงการ ปั่นหัว บิดเบือนความจริงให้เข้าใจผิด เป็นคำศัพท์แห่งปี 2022 ช่างเหมาะสมกับยุคโซเชียลเสียจริง.

อมรดา พงศ์อุทัย