ที่ประชุมรมว.ต่างประเทศอาเซียนเปิดหารือเกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมา โดยไม่มีผู้แทนเมียนมาเข้าร่วม เห็นชอบการยึดมั่นต่อการสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อเพื่อหาทางแก้วิกฤติความรุนแรง

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 ที่กรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้เปิดการประชุมนัดพิเศษ หารือแนวทางผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพในเมียนมา ก่อนจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนหน้า ท่ามกลางสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา หลังจากเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากองทัพเมียนมา เปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มพื้นที่รัฐคะฉิ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 80 ศพ ซึ่งนับเป็นความรุนแรงครั้งล่าสุดนับตั้งแต่เกิดกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

การประชุมครั้งนี้ใช้เวลาครึ่งวัน ซึ่งทางการเมียนมาไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมโต๊ะหารือ โดยกัมพูชาในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า สถานการณ์ในเมียนมาวิกฤติและมีความเปราะบาง ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนจากชาติสมาชิกอาเซียนเห็นชอบว่า อาเซียนควรมุ่งมั่นมากขึ้น เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างสันติในเมียนมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

...

ก่อนการประชุมเพียง 1 วัน ทางการกัมพูชา ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างมากต่อการยกระดับการใช้ความรุนแรงในเมียนมา พร้อมเรียกร้องให้เมียนมายับยั้งชั่งใจ และประกาศหยุดยิงทันที รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาเจรจากันมีขึ้นก่อนจะถึงการประชุมประจำปีของบรรดาผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งปกติแล้วที่ผ่านมาสมาชิกอาเซียนมีธรรมเนียมในการดำเนินบทบาทไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพ และหลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์กันและกัน ขณะที่สถานการณ์ในเมียนมานับตั้งแต่เกิดรัฐประหารได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนประสิทธิภาพขององค์กรในการจัดการกับวิกฤติการเมืองและภาวะฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมท่ีอาจส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค


ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว สมาชิกอาเซียนเห็นชอบฉันทามติ 5 ข้อในการหาทางออกจากวิกฤติความรุนแรงในเมียนมา ซึ่งประกอบด้วยข้อเรียกร้องให้เมียนมายุติความรุนแรงโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่ พร้อมผลักดันการเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกอย่างสันติ นอกจากนี้ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน และอาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ ขณะเดียวกันทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.