- สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ประกาศข่าวร้ายในวันที่ 8 ก.ย. 2565 ว่า สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตแล้ว หลังมีการเปิดเผยว่าแพทย์ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด
- เหตุการณ์พลิกผันมากมายทำให้ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ต้องขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรอย่างกะทันหัน และพระองค์ต้องนำพาประเทศและราชวงศ์ฝ่าฟันยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง
- แต่ถึงแม้จะกะทันหัน พระองค์ก็พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อประคับประคองราชวงศ์เรื่อยมา จนกลายเป็นกษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดของอังกฤษ และยังเป็นที่รักจนถึงทุกวันนี้
สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแห่งอังกฤษ ออกแถลงการณ์แจ้งข่าวร้ายในวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ย. 2565 ว่า สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ผู้ครองบัลลังก์มานานถึง 70 ปี เสด็จสวรรคตแล้ว ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา หลังจากมีข่าวว่าพระองค์ต้องอยู่ภายใต้การดูแลพิเศษทางการแพทย์ในช่วงเช้าวันเดียวกัน
ตลอดการครองราชย์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงความสำนึกในหน้าที่อย่างแรงกล้า ทรงผ่านยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในโลกมากมาย ในขณะที่บทบาทของกษัตริย์เริ่มถูกตั้งคำถาม แต่พระองค์ก็ทรงประคองราชวงศ์ฝ่าช่วงเวลาอันยุ่งเหยิงมาได้ แม้ว่าในตอนแรกจะไม่มีใครคาดคิดเลยว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชบัลลังก์ก็ตาม
...
วัยพระเยาว์และการศึกษา
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 หรือพระนามเต็มคือ เอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี ประสูติเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2469 ที่เขตเมย์แฟร์ ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ เป็นพระธิดาองค์โตของเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก พระโอรสองค์ที่ 2 ในพระเจ้าจอร์จที่ 5 และเลดี้ เอลิซาเบธ โบวส์-ลียง ดัชเชสแห่งยอร์ก ที่ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระราชาธิบดี จอร์จ ที่ 6 และราชินีเอลิซาเบธที่ 1 มีพระขนิษฐา 1 พระองค์คือเจ้าหญิง มาร์กาเร็ต โรส ประสูติเมื่อปี 2483
เจ้าหญิงน้อยทั้งสองทรงได้รับการศึกษาที่บ้านเฉกเช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงจากตระกูลมีฐานะทั่วไป และถูกเลี้ยงดูขึ้นมาในครอบครัวที่มีบรรยากาศอบอุ่น และตอนที่อายุได้ 6 พรรษา เจ้าหญิงเอลิซาเบธเคยบอกกับครูฝึกขี่ม้าว่า พระองค์อยากเป็นสุภาพสตรีในชนบทที่มีม้าและสุนัขเยอะๆ พระองค์ยังมีความสามารถในด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ทรงศึกษาศิลปะและดนตรี และเป็นนักว่ายน้ำฝีมือดี ชนะการแข่งขันชิงถ้วยเยาวชนของชมรม London's Bath Club ตอนที่พระองค์มีพระชนมพรรษา 13 พรรษาด้วย
ในเวลานั้นเจ้าหญิงน้อยไม่เคยคิดเลยว่า วันหนึ่งพระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในปี 2479 พระเจ้าจอร์จที่ 5 เสด็จสวรรคต ทำให้พระปิตุลา (ลุง) ของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ คือ เจ้าชายเดวิด ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แต่ในปลายปีเดียวกัน พระองค์ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติเพื่อแต่งงานกับ น.ส. วอลลิส ซิมป์สัน หญิงที่พระองค์รัก ทำให้พระบิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธต้องสืบทอดราชบัลลังก์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 และพระองค์ก็กลายเป็นรัชทายาทลำดับถัดไปโดยปริยาย
ต่อมาในปี 2483 ซึ่งเป็นช่วงที่นาซีเยอรมันทิ้งระเบิดโจมตีเมืองน้อยใหญ่ในสหราชอาณาจักรอย่างหนัก องค์หญิงน้อยทั้งสองพระองค์ต้องย้ายไปอยู่ที่พระราชวังวินด์เซอร์ เพื่อความปลอดภัย และใช้เวลาเกือบตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นั่น แต่แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางความตึงเครียด องค์หญิงน้อยก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในช่วงคริสต์มาส ด้วยการเล่นละครใบ้ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ
ควีนกับพระสวามีคู่ชีวิต
ภาพควีนเอลิซาเบธกับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ออกงานคู่กันเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เป็นภาพที่ทั้งโลกยังจดจำได้ดี ทั้งสองมีพระโอรสพระธิดา 4 พระองค์ มีหลาน 8 พระองค์ และเหลนอีก 11 พระองค์ แต่ในช่วงแรกของการแต่งงานทั้งสองใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเหมือนคนทั่วไปในฐานะทหารเรือและภรรยา
เจ้าหญิงเอลิซาเบธกับฟิลิป เจ้าชายแห่งกรีซ พบกันครั้งแรกในปี 2477 ตอนที่ทั้งสองร่วมพิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงมารินาแห่งกรีซ ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าชายฟิลิป กับดยุคแห่งเคนท์ พระปิตุลาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ หลังจากนั้นทั้งสองก็พบกันอีกหลายครั้งจนเกิดเป็นความรัก และแลกเปลี่ยนจดหมายซึ่งกันและกัน
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เจ้าหญิงเอลิซาเบธก็ตัดสินพระทัยที่จะแต่งงานกับเจ้าชายฟิลิป และประกาศหมั้นกันในวันที่ 9 ก.ค. 2490 แต่ทั้งสองก็ต้องเผชิญอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งการคัดค้านจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้ไม่อยากเสียลูกสาวที่สุดหวงแหนไป ขณะที่ฟิลิปก็ต้องเอาชนะอคติจากการที่เขาเป็นเจ้าชายต่างชาติให้ได้ ซึ่งทั้งสองฝ่าฟันได้สำเร็จ และจัดพิธีเสกสมรสที่โบสถ์เวสมินสเตอร์ แอบบีย์ ในวันที่ 20 พ.ย. ปีเดียวกัน โดยพิธีเป็นไปอย่างเรียบง่ายเนื่องจากอังกฤษกำลังฟื้นตัวจากสงคราม
เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าชายฟิลิปทรงย้ายไปอาศัยอยู่ที่มอลตาหลังจากเจ้าชายชาร์ลส์ (พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์อังกฤษองค์ปัจจุบัน) ประสูติในปี 2491 เนื่องจากเจ้าชายฟิลิปเป็นทหารเรือสังกัดกองเรือรบเมดิเตอร์เรเนียน และอยู่ที่นั่นจนถึงปี 2494 โดยในระหว่างนั้นทั้งสองได้ให้กำเนิดพระธิดาอีกพระองค์คือ เจ้าหญิงแอนน์ ในปี 2493
หลังจากเจ้าหญิงเอลิซาเบธขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถในปี 2495 พระองค์กับเจ้าชายฟิลิปก็มีพระโอรสอีก 2 พระองค์คือ เจ้าชายแอนดรูว์ ในปี 2503 และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ในปี 2507 โดยมีเจ้าชายฟิลิปคอยสนับสนุนเรื่อยมาในฐานะ เจ้าชายพระราชสวามี (Consort) ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 73 ปีคอยค้ำจุนอยู่เบื้องหลังสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 อย่างแข็งแกร่ง จนกระทั่งวาระสุดท้าย สิ้นพระชนม์อย่างสงบในวันที่ 9 เม.ย. 2564 ขณะพระชนมายุ 99 พรรษา
...
สืบราชบัลลังก์อย่างกะทันหัน
ในเดือนมกราคม 2495 เอลิซาเบธในวัย 25 พรรษา ออกเดินทางเยือนประเทศเครือจักรภพกับเจ้าชายฟิลิป แทนพระเจ้าจอร์จที่ 6 ซึ่งประชวรหนักจากมะเร็งปอดระยะสุดท้ายเพราะสูบบุหรี่จัดมาตลอด และความเครียดจากสงคราม โดยพระองค์เสด็จฯ ไปทรงส่งพระธิดาถึงสนามบิน โดยไม่ฟังคำทักท้วงของแพทย์ และนี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธได้พบกับพระราชบิดา
เจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ข่าวการสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในวันที่ 6 ก.พ. ปีเดียวกัน ขณะอยู่ที่ประเทศเคนยา พระองค์จึงทรงรีบเดินทางกลับอังกฤษ และต้องสืบทอดราชบัลลังก์ทันที กลายเป็นควีนเอลิซาเบธที่ 2 รับช่วงต่อความรับผิดชอบทุกอย่างที่มาพร้อมกับตำแหน่งใหม่ของพระองค์
ก้าวผ่านยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง
สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นปัจจัยที่เร่งให้จักรวรรดิอังกฤษไปถึงจุดสิ้นสุดเร็วขึ้น ตลอดช่วงทศวรรษที่ 1950 ประเทศในเครือจักรภพมากมายเริ่มเลิกใช้ธงยูเนียนแจ็ก ชาติอาณานิคมมากมาย รวมถึง อินเดีย ได้รับอิสรภาพ ความอ่อนแอของเครือจักรภพยิ่งเด่นชัดขึ้นอีกในวิกฤตการณ์คลองสุเอซ ปี 2499 ซึ่งอังกฤษส่งกองทัพไปเพื่อหยุดยั้งไม่ให้อียิปต์ยึดคลองสุเอซ แต่กลับจบลงด้วยการถูกนานาชาติกดดันจนต้องถอนกำลังอย่างน่าอับอาย และทำให้นายกรัฐมนตรี แอนโธนี เอเดน ตัดสินใจลาออก
เรื่องนี้ทำให้ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ต้องเข้ามาพัวพันกับวิกฤติการเมือง เพราะตอนนั้น พรรคอนุรักษนิยมยังไม่มีกลไกแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ สมเด็จพระราชินีนาถจึงเชิญนายฮาโรลด์ แมคมิลลาน มาเป็นผู้นำรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้พระองค์ถูกสื่อวิจารณ์ว่า คณะบริหารของพระองค์นั้นเป็นอังกฤษเกินไป หรือมีแต่ชนชั้นสูง และถูกครหาว่า กล่าวสุนทรพจน์ง่ายๆ โดยไม่มีโพยไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า มุมมองที่สังคมอังกฤษมีต่อราชวงศ์กำลังเปลี่ยนไปอย่างเร็ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยการสนับสนุนจากพระสวามี ควีนเอลิซาเบธทรงเริ่มปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง เลิกใช้คำว่า “ราชาธิปไตย” (Monarchy) แทนที่ด้วยคำว่า “ครอบครัวราชวงศ์” (Royal Family) พระองค์ถูกดึงเข้าไปพัวพันการเมืองอีกครั้งในปี 2507 หลังนายแมคมิลลานลาออก แต่นี่เป็นครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นควีนเอลิซาเบธตัดสินพระทัยแยกราชวงศ์กับรัฐบาลให้ห่างกันมากขึ้น โดยทรงยืนยันหนักแน่นถึงสิทธิของพระองค์ในการได้รับแจ้ง, การให้คำแนะนำ และการเตือน แต่ไม่ก้าวล่วงการเมืองมากกว่านั้น
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมตัดสินใจใช้มาตรการเชิงรุก เพื่อสร้างภาพให้ ครอบครัวราชวงศ์ มีความเป็นทางการน้อยลงและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ผลลัพธ์ก็คือภาพยนตร์สารคดี ‘Royal Family’ ซึ่งสำนักข่าว บีบีซี ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำการใช้ชีวิตภายในบ้านของบรรดาเชื้อพระวงศ์ ทั้งภาพตอนทำบาร์บีคิว, ตอนประดับต้นคริสต์มาส, ขับรถไปรับส่งลูกหลาน ที่ชาวอังกฤษในตอนนั้นไม่เคยเห็นมาก่อน
นักวิจารณ์หลายคนโจมตีว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำลายมนตร์ขลังของสมาชิกราชวงศ์ด้วยการทำให้พวกเขาดูเป็นคนธรรมดา แต่มันกลับได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน ทำให้แรงสนับสนุนเชื้อพระวงศ์ในสังคมเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากงานฉลองครบรอบครองราชย์ 25 ปีของควีนเอลิซาเบธในปี 2520 ประชาชนกระตือรือร้นจัดงานฉลองและงานเลี้ยงไปทั่วราชอาณาจักร
...
รับมือเรื่องอื้อฉาวและข่าวร้ายในราชวงศ์
ปี 2535 เป็นปีที่หนักหนาสาหัสมากสำหรับราชวงศ์อังกฤษ ถึงขั้นที่ควีนเอลิซาเบธเคยออกมายอมรับว่า “เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดของพระองค์” โดยมีเรื่องอื้อฉาวมากมายเริ่มจากการแยกทางกันระหว่าง เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก กับซาราห์ พระชายา ขณะที่การสมรสระหว่างเจ้าหญิงแอนน์ กับนายมาร์ก ฟิลลิปส์ ก็จบลงด้วยการหย่าร้าง จากนั้นก็มีข่าวเปิดเผยว่าคู่ระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับเจ้าหญิงไดอานา ระหองระแหงกันจนสุดท้ายก็แยกทางกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ในปีเดียวกันยังเกิดไฟไหม้ขึ้นที่ตำหนักวินด์เซอร์ ซึ่งควีนเอลิซาเบธโปรดปราน ทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมว่า ควรซ่อมปราสาทแห่งนี้ด้วยเงินภาษีของประชาชนหรือควีนควรใช้เงินส่วนพระองค์เอง สุดท้ายวังบักกิงแฮมต้องเปิดให้สาธารณชนเข้าชม เพื่อระดมทุนสำหรับซ่อมปราสาทวินด์เซอร์ พร้อมประกาศว่า ควีนกับพระสวามีจะจ่ายเงินภาษีเช่นเดียวกับประชาชน
หลังจากการสิ้นพระชนม์ของ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในอุบัติเหตุรถยนต์ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อสิงหาคม 2540 ควีนเอลิซาเบธก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ที่พระองค์ไม่แสดงออกถึงการไว้อาลัยอย่างเป็นทางการ แม้จะออกแถลงการณ์ในภายหลังและชื่นชมเจ้าหญิงไดอานา แต่ดูเหมือนว่าคะแนนนิยมที่เสียไปจะไม่กลับคืนมาง่ายๆ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2545 ซึ่งเป็นอีกปีแห่งความโศกเศร้าของควีนเอลิซาเบธ จากการสูญเสียพระมารดาและเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐา บดบังรัศมีของงานฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปีของพระองค์ ท่ามกลางกระแสถกเถียงเรื่องอนาคตของราชวงศ์ที่หวนกลับมาอีกครั้ง แต่ประชาชนนับล้านคนก็ยังไปรวมตัวกันที่ลาน The Mall หน้าพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อร่วมฉลองวันครบรอบ
ข่าวดีอีกเรื่องเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2554 คือพิธีเสกสมรสระหว่าง เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และแคเทอรีน มิดเดิลตัน ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน พระองค์ยังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่เดินทางเยือนสาธารณรัฐไอร์แลนด์ด้วย
...
ราชินีผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุด
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กลายเป็นกษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2558 แซงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียผู้ปกครองอังกฤษร่วม 64 ปี (พ.ศ. 2380-2444) แต่ควีนเอลิซาเบธไม่ได้ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาประวัติศาสตร์นี้มากนัก โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ปรารถนา”
ไม่ถึง 1 ปีต่อมา ในเดือนเมษายน 2559 ควีนเอลิซาเบธก็ได้ฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระชนมพรรษา 90 พรรษา แต่ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเรื่อยมา โดยส่วนใหญ่จะออกงานเพียงพระองค์เดียว เมื่อเจ้าชายฟิลิปเกษียณจากการปฏิบัติหน้าที่ในปี 2560
เรื่องอื้อฉาวยังเกิดขึ้นในราชวงศ์อังกฤษอยู่เนืองๆ รวมถึง เหตุเจ้าชายฟิลิปขับรถชนรถคันอื่น, เจ้าชายแอนดรูว์ไปพัวพันกับนายเจฟฟรีย์ เอปสตีน ผู้ต้องหาค้าประเวณี ก่อนที่ดยุกแห่งยอร์กจะถูกฟ้องร้องข้อหาล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ และการถอนตัวออกจากราชวงศ์ของเจ้าชายแฮร์รี่ พระราชนัดดาคนโปรด แต่ที่หนักหน่วงที่สุดคือ การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิป พระสวามีคู่ชีวิตในปี 2564 ท่ามกลางการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19
แม้ว่าในช่วงท้ายของชีวิต ราชวงศ์อังกฤษจะไม่ได้เข้มแข็งเหมือนกับตอนแรก แต่ความมุ่งมั่นของควีนเอลิซาเบธ ที่ต้องการอุทิศชีวิตเพื่อประชาชน และทำให้ครอบครัวราชวงศ์ เป็นสถานที่แห่งความรักและความเคารพในใจของชาวอังกฤษ ส่งผลให้พระองค์สามารถประคับประคองราชวงศ์อังกฤษให้ฝ่าฟันความเปลี่ยนแปลงและมรสุมมากมายมาได้จนถึงทุกวันนี้
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : bbc, royal