ด้วยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายด้านอาหารทำให้งบประมาณการใช้จ่ายของหลายครอบครัวลดลง นักวิจัยจึงพยายามคิดวิธีแก้ปัญหา ซึ่งแนวคิดการแปรสภาพขยะให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ก็ยังเป็นแนวคิดยอดนิยม และนักวิจัยหลายรายก็มุ่งเป้าไปที่ขยะจากอาหาร ในสหรัฐอเมริกาเองสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเคยคาดคะเนว่าในปี 2561 เศษอาหารในครัวเรือนประมาณ 81% หรือประมาณ 20,000 กิโลกรัม จะถูกนำไปฝังกลบหรือเผาไหม้ ซึ่งเศษอาหารมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเมื่อนำไปฝังในหลุมฝังกลบ ก็จะปล่อยก๊าซมีเทน ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกออกมา

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยจากสถาบันวอร์เซสเตอร์ โพลีเทคนิค ในสหรัฐอเมริกา เผยว่าได้คิดค้นวิธีที่จะใช้เศษอาหารสำหรับผลิตเชื้อเพลิงทดแทนที่มีราคาจับต้องได้ นั่นคือการสร้างไบโอดีเซล ที่รู้กันว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตจากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียน เช่น น้ำมันพืช ไขมันสัตว์ หรือสาหร่าย โดยในการผลิตเชื้อเพลิงประเภทนี้ นักวิจัยใช้กระบวนการที่เรียกว่า hydrothermal liquefaction ซึ่งใช้ความร้อนและน้ำในการย่อยสลายเศษอาหารให้เป็นของเหลว อันเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการเปลี่ยนวัสดุอื่นๆเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ

ทีมวิจัยระบุว่า การเปลี่ยนเศษอาหารเป็นไบโอดีเซลนั้น มีศักยภาพในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 15,300 ล้านกิโลกรัมในทุกปี โดยช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสหรัฐอเมริกา ได้ 2.6% และด้วยวิธีการใช้เศษอาหารในการผลิตเชื้อเพลิงทดแทน ก็พบว่าสามารถลดราคาน้ำมันลงเหลือ 1.10 ดอลลาร์ฯ ต่อแกลลอน หรือราว 40 บาท และอาจต่ำกว่านั้นได้อีก.

Credit : iScience (2022). DOI: 10.1016/j.isci.2022.104916