ทวีปยุโรปกำลังเผชิญภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 500 ปี โดยพื้นที่ร่วม 2 ใน 3 ส่วนอยู่ภายใต้การเตือนภัยหรือเฝ้าระวังภัยแล้ง
สำนักข่าว บีบีซี รายงานเมื่อวันอังคารที่ 23 ส.ค. 2565 อ้างข้อมูลจากรายงานล่าสุดของสำนักงานสังเกตการณ์ภัยแล้งโลก (Global Drought Observatory : GDO) ว่า ตอนนี้พื้นที่ราว 47% ของทวีปยุโรปอยู่ภายใต้สถานะ ‘เตือนภัย’ ภัยแล้ง ซึ่งหมายความว่าพื้นดินกำลังเหือดแห้ง ขณะที่อีก 17% อยู่ในสถานะ ‘เฝ้าระวัง’ ซึ่งหมายถึงพืชผลทางการเกษตรกำลังแสดงสัญญาณของความตึงเครียดออกมา
รายงานระบุอีกว่า ภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เกิดไฟป่า และอาจดำเนินไปนานหลายเดือนในบางพื้นที่ทางตอนใต้ของยุโรป
นางมาริยา แกเบรียล นักวิจัยของคณะกรรมาธิการวิจัยแห่งยุโรป ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ GDO ระบุว่า ตัวเลขเบื้องต้นดังกล่าวบ่งชี้ว่า ภัยแล้งครั้งนี้เลวร้ายที่สุดในรอบอย่างน้อย 500 ปี ด้วยคลื่นความร้อนที่ยังคงดำเนินอยู่และการขาดแคลนน้ำ ทำให้เกิดความตึงเครียดด้านระดับน้ำอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“เรากำลังรู้สึกได้ถึงฤดูไฟป่าที่รุนแรงกว่าค่าเฉลี่ย และผลกระทบสำคัญต่อผลิตทางการเกษตร ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเห็นได้ชัดขึ้นทุกๆ ปี” นางแกเบรียล เสริม
รายงานเตือนด้วยว่า แม่น้ำเกือบทั้งหมดในยุโรปจะแห้งเหือดลงในระดับหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อการเดินเรือ ยังกระทบต่อภาคพลังงาน ซึ่งวิกฤติอยู่แล้ว การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ 20%
ภัยแล้งรุนแรงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ตลอดปี แต่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม มันเริ่มขยายตัวและเลวร้ายลง มีความเป็นไปได้ที่สภาวะนี้จะคงอยาต่อไปอย่างน้อยจนถึงเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ในพื้นที่ยุโรปแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมถึง อิตาลี, สเปน, โปรตุเกส, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, โรมาเนีย, ฮังการี, เซอร์เบีย, ยูเครน, มอลโดวา, ไอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร
...