ไห่หนานตั้งทางตะวันออกของอ่าวตังเกี๋ย ห่างจากปลายคาบสมุทรเหล่ย์โจวของมณฑลกว่างตงลงไปทางใต้ 24 กิโลเมตร มณฑลไห่หนานประกอบด้วยเกาะไห่หนานและเกาะเล็กๆ อีกประมาณ 200 เกาะ มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 34,300 ตารางกิโลเมตร

ไห่หนานมีภูมิอากาศเขตร้อนได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้มีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,800 มิลลิเมตรต่อปี ปลูกข้าวได้ปีละ 3 ครั้ง อุณหภูมิต่ำสุดในฤดูหนาวคือ 18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิร้อนสุด 25-29 องศาเซลเซียส เป็นมณฑลที่ปลูกข้าว ยางพารา มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน พริกไทย ชา และกาแฟ

ค.ศ.2014 เกษตรกรจีนจากมณฑลไห่หนานนำทุเรียนจากเวียดนามเข้าไปปลูกในสวนของตน วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป 5 ปี ค.ศ.2019 ทุเรียนเริ่มมีตุ่มเล็กๆ ที่เรียกว่าระยะไข่ปลา พัฒนามาเป็นระยะตาปู ไประยะเหยียดตีนหนู เข้าสู่ระยะกระดุม ระยะมะเขือพวง ระยะหัวกำไล ระยะดอกขาว ระยะดอกบาน ระยะหางแย้ไหม้ ระยะไข่ไก่ ระยะไข่ห่าน และบั้นปลายท้ายที่สุด ทุเรียนที่ปลูกในมณฑลไห่หนานก็เข้าสู่ระยะผลใหญ่ ซึ่งเป็นระยะเก็บเกี่ยว เขียนให้เข้าใจง่ายก็คือ ไห่หนานซึ่งเป็นมณฑลทางตอนใต้ของจีนสามารถปลูกทุเรียนได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

แต่ก่อนง่อนชะไร ไห่หนานมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกว่างตง รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศแยกไห่หนานเป็นมณฑลใหม่เมื่อ ค.ศ.1988 จากมณฑลไห่หนานขึ้นไปเพียง 24 กิโลเมตรก็ถึงปลายคาบสมุทรเหล่ย์โจวของมณฑลกว่างตง ภูมิอากาศต่างๆ ของไห่หนานและกว่างตงจึงละม้ายคล้ายกันมาก

ข่าวการปลูกทุเรียนได้ในไห่หนานแพร่ขยายกระจายไปสู่แผ่นดินใหญ่ ข่าวนี้ทำให้นายเติ้ง ยู่เฉียง เกษตรกรแห่งตำบลกวนจู เมืองม้าวหมิง มณฑลกว่างตงมีความสนใจ จึงเดินทางไปมาเลเซียและนำทุเรียนหลากหลายพันธุ์มาปลูกที่จีน ที่มีมูลค่าสูงในตลาดจีนคือ Mao Shan Wang (จ้าวแห่งแมวภูเขา) ซึ่งต่อมาคนเรียกกันว่าทุเรียนมูซังคิง (D197) และนำทุเรียนที่มีทรงผลสวย เปลือกบาง เม็ดเล็กและลีบ เนื้อสุกเป็นสีเหลืองอมส้ม เนื้อเนียนละเอียดมาก ไม่เละ รสชาติหวานมันกลมกล่อมและหวานแหลม มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่มีรสขม ที่ประชาชนคนทั่วไปเรียกว่าทุเรียนโอฉี บางคนเรียกว่าทุเรียนหนามดำ (D200) ไปปลูกที่ตำบลกวนจู เมื่อ ค.ศ.2018

...

ค.ศ.2021 สวนทุเรียนของนายเติ้งให้ผลผลิตทุกพันธุ์ เมื่อนายเติ้งแกะทุเรียนมูซังคิงจากสวนตัวเอง พบเนื้อทุเรียนสีเหลืองขมิ้นที่มีลักษณะคล้ายแมวนอนหลับ เมื่อนำใส่ปากพบว่ามีรสชาติหวานมัน หอม มีรสขมนิดๆ ไม่เละ ขนาดผล 2.0–2.5 กิโลกรัม ซึ่งไม่ใหญ่จนเกินไป ส่วนทุเรียนพันธุ์หนามดำที่สวน ของนายเติ้งก็มีรสชาติเช่นเดียวกันกับที่ปลูกในมาเลเซียทุกประการ

นายเติ้งเดินทางไปปรึกษาหารือเรื่องการปลูกทุเรียนกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย South China Agricultural University (มหาวิทยาลัยเกษตรจีนตอนใต้) ซึ่งตั้งอยู่ที่นครกว่างโจว รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านทุเรียนจากมาเลเซียให้บินมาดูแปลงทุเรียนในตำบลกวนจูของตนด้วย ขณะนี้นายเติ้งเตรียมขยายแปลงทุเรียนไปมากมายหลายแห่ง ด้วยความมุ่งหวังตั้งใจที่จะให้แผ่นดินจีนตอนใต้ผลิตทุเรียนมากมายหลากหลายพันธุ์ให้ผู้บริโภคชาวจีนได้ทาน

10 ปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมการปลูกทุเรียนอย่างกว้างขวาง ทั้งในไทย มาเลเซียและประเทศอื่น ที่มาเลเซียมีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว 200 พันธุ์ ที่อินโดนีเซียมีทุเรียนมากมายถึง 103 พันธุ์ ที่กำลังดังในฟิลิปปินส์ก็คือพันธุ์อะทาบรีน พันธุ์มาเมอร์ พันธุ์ยูมาลี พันธุ์ดูยาย่า ที่เวียดนามก็ปลูกกันบานเบอะเยอะแยะ ประมาณกันว่าน่าจะถึงครึ่งล้านไร่ไปแล้ว

ค.ศ.2021 จีนนำเข้าทุเรียน 4.21 แสนตัน เป็นมูลค่า 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.26 แสนล้านบาท) เป็นทุเรียนจากไทยร้อยละ 90

ปีที่แล้ว ผมบอกรุ่นน้องที่จะโค่นต้นมังคุดไปปลูกทุเรียนว่า อ้า อย่าเพิ่งโค่นมังคุดเลย น้องบอกว่า “อ้า ห้ามทำไม พี่อิจฉาผมหรือ”

ผมตอบด้วยเสียงแผ่วเบาว่า “อ้า เปล่า พี่เปล่าอิจฉา”.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com