ยุคนี้การใช้งาน “หุ่นยนต์ทางสังคม” (social robot) มีอย่างกว้างขวาง เป็นที่รู้กันว่าหุ่นยนต์ชนิดนี้ออกแบบมาเพื่อให้บริการแก่มนุษย์ในหลายๆ ด้าน สามารถโต้ตอบและช่วยเหลือมนุษย์ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอาจมีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมประจำวันได้ด้วยตนเองมากขึ้น
แต่สิ่งที่นักพัฒนาด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์วาดหวังมากกว่านั้นคือ หุ่นยนต์ต้องสามารถเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างกิจวัตรของผู้สูงวัยกับอารมณ์ของเขา แต่เรื่องนี้ก็ไม่ยากเกินมือของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบารี ในอิตาลี ซึ่งได้ใช้เวลานานหลายปีกับความพยายามตรวจสอบศักยภาพของการใช้หุ่นยนต์ทางสังคม พวกเขาระบุว่า หุ่นยนต์ทางสังคมควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมประจำวันได้ และในขณะเดียวกันก็ควรมีส่วนทำให้อารมณ์ของผู้สูงอายุดีขึ้น โดยหุ่นยนต์ต้องสามารถพิจารณาปัจจัยทางอารมณ์ในสถานการณ์ประจำวันได้นั่นเอง
ทีมวิจัยได้คิดค้นระบบ WoMan (Workflor Management) ที่สามารถเรียนรู้และปรับแต่งกิจวัตรของผู้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง มาเป็นโมดูลส่วนหลังของแอปพลิเคชันชื่อ Daily Diary (DD) โดยนำมาใช้กับหุ่นยนต์เปปเปอร์ ตัวสีขาวหน้าตาบ้องแบ๊ว ผลิตโดยบริษัทซอฟต์แบงก์ โรโบติกส์ เจ้าเปปเปอร์สามารถโต้ตอบกับมนุษย์และตรวจจับอารมณ์พื้นฐานของพวกเขาได้ ซึ่ง WoMan ที่ติดตั้งในแอปฯ DD จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมประจำวันและความสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้งาน ข้อมูลที่รวบรวมโดยแอปฯ นี้จะถูกวิเคราะห์โดยแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่อง เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าผู้ใช้งานรู้สึกอย่างไรเมื่อทำงานต่างๆเสร็จลุล่วง
ในการประเมินเบื้องต้น ทีมวิจัยพบว่ารูปแบบการเรียนรู้ของระบบที่ติดตั้งในเปปเปอร์ สามารถเรียนรู้ที่จะทำนายกิจวัตรประจำวันและความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมกับอารมณ์ของผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ ซึ่งผลของการวิจัยระยะนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อประเมินความถูกต้อง ถ้าจะต้องนำไปใช้ตามบ้านเรือนในการช่วยเหลือผู้สูงวัย ซึ่งหุ่นยนต์ทางสังคมไม่เพียงสามารถให้ความช่วยเหลือในเชิงรุกเท่านั้น แต่ยังต้องเอาใจใส่ด้านอารมณ์ได้เช่นกัน
...
หากการประเมินในอนาคตเป็นไปด้วยดี ก็อาจช่วยพัฒนาหุ่นยนต์ที่แสดงความเห็นอกเห็นใจได้ดีขึ้น หรือปรับพฤติกรรมหุ่นยนต์ให้ตอบสนองความต้องการทั้งทางร่างกายและอารมณ์ของผู้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ.
ภัค เศารยะ