ในปี พ.ศ.2369 มีร่างมัมมี่ “สตรีปริศนา” (Mysterious Lady) อายุกว่า 2,000 ปี ถูกส่งให้กับมหาวิทยาลัยวอร์ซอ และเมื่อปีที่แล้วนักวิจัยได้ตรวจสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จนเปิดเผยได้ว่ามัมมี่หญิงผู้นี้ มีอายุระหว่าง 20– 30 ปีขณะที่เสียชีวิต และเป็นสตรีมีครรภ์โดยอยู่ในสัปดาห์ที่ 26–30 ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งต่อมาระบุว่าหญิงคนดังกล่าวเสียชีวิตในช่วงอายุ 20 ปีขณะอายุครรภ์ของเธอก็ประมาณ 28 สัปดาห์ แต่สาเหตุของการเสียชีวิตยังเป็นปริศนา
ล่าสุดนักวิจัยในโปแลนด์อาจระบุสาเหตุการเสียชีวิตของ “สตรีปริศนา” ผู้นี้ได้แล้ว หลังจากสแกนกะโหลกศีรษะและพบร่องรอยที่ผิดปกติในกระดูกกะโหลก รอยโรคมีแนวโน้มว่าจะเกิดจากเนื้องอกและมีข้อบกพร่องขนาดใหญ่ในส่วนต่างๆของกระดูก ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการทำมัมมี่ นักวิจัยลงความเห็นว่ามัมมี่อียิปต์โบราณที่ตั้งครรภ์ซึ่งพบเป็นซากแรกของโลก เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรูปแบบที่หายากโดยมีลักษณะคล้ายกับที่พบในผู้ป่วยมะเร็งโพรงจมูก เป็นไปได้ว่าน่าจะเสียชีวิตด้วยโรคเดียวกัน
มะเร็งโพรงจมูกเป็นมะเร็งชนิดหายากที่มีผลต่อส่วนของลำคอที่เชื่อมระหว่างด้านหลังจมูกกับด้านหลังปาก ทั้งนี้ นักวิจัยเผยว่ากำลังวางแผนที่จะรวบรวมตัวอย่างเนื้อเยื่อและเปรียบเทียบกับตัวอย่างมะเร็งจากมัมมี่อียิปต์ร่างอื่นๆ เพราะการเปิดเผยสัญญาณระดับโมเลกุลของมะเร็งอาจช่วยเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของมะเร็งและสามารถนำไปสู่การพัฒนายาแผนปัจจุบันได้.
(ภาพจากยูทูบ)
...