- ฮ่องกง เป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน ภายใต้นโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ที่ใช้ในการปกครองฮ่องกง ตามกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ปกครองและบริหารฮ่องกงที่สภาประชาชนจีนอนุมัติและประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 1990 ให้สิทธิฮ่องกงในการปกครองตนเองอย่างอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเสรี รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ฮ่องกงสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 จนไปถึง 30 มิถุนายน 2590 แต่หลังจากนั้นฮ่องกงจะเปลี่ยนไปปกครองแบบเมืองอื่นๆ ของจีน และนั่นหมายความว่า ขณะนี้จีนได้เดินมาถึงครึ่งทางของคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับอังกฤษแล้ว
- ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน เดินทางไปยังเกาะฮ่องกงด้วยรถไฟความเร็วสูง เพื่อเข้าร่วมการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีที่สหราชอาณาจักรส่งคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 เป็นวันที่อังกฤษคืนฮ่องกงสู่อำนาจการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการ หลังจากที่สัญญาเช่า 99 ปี หมดอายุสัญญาลงในวันที่ 30 มิถุนายน ปีเดียวกันนั้น ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และนายเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้นำจีน พร้อมกับกล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ โดยยืนยันว่าหัวใจของเขานั้นอยู่กับฮ่องกงเสมอ และหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ จะช่วยนำพาฮ่องกงไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง
- นักวิเคราะห์เชื่อว่า เมืองนี้ยังคงเป็น "ประตูทางเข้าและออกจากจีน" ที่มีความโดดเด่น เนื่องจากมีระบบกฎหมายและตลาดการเงินที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเปิดกว้างมากสำหรับหลายประเทศในโลก แต่ความตึงเครียดกับรัฐบาลจีนเมื่อเร็วๆ นี้ และกลยุทธ์ปลอดโควิดที่เข้มงวด ทำให้หลายคนถามว่าเมืองนี้กำลังสูญเสียสิ่งที่น่าดึงดูดใจกับบริษัทต่างชาติหรือไม่
...
หลังฮ่องกงถูกส่งกลับจีน ทำให้เกิดการทดลองทางการเมืองครั้งใหญ่ หลายคนวิตกกังวลว่าอดีตอาณานิคมของอังกฤษที่เป็นดินแดนแห่งทุนนิยมเสรีจะเป็นอย่างไรภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์จีน
ฮ่องกง เป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน ภายใต้นโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ที่ใช้ในการปกครองฮ่องกง ตามกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ปกครองและบริหารฮ่องกงที่สภาประชาชนจีนอนุมัติและประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2533 ให้สิทธิฮ่องกงในการปกครองตนเองอย่างอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเสรี รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ฮ่องกงสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 จนไปถึง 30 มิถุนายน 2590 แต่หลังจากนั้น ฮ่องกงจะเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการปกครองแบบเมืองอื่นๆ ของจีน และนั่นหมายความว่า ขณะนี้จีนได้เดินมาถึงครึ่งทางของคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับอังกฤษแล้ว
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน เดินทางไปยังเกาะฮ่องกงด้วยรถไฟความเร็วสูง เพื่อเข้าร่วมการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีที่สหราชอาณาจักรส่งคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน พร้อมกับกล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ โดยยืนยันว่าหัวใจของเขานั้นอยู่กับฮ่องกงเสมอ และหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ จะช่วยนำพาฮ่องกงไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง
ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ ผู้นำจีนเปรียบเปรยว่า หลังจากที่พายุผ่านพ้นไป ฮ่องกงในตอนนี้เปรียบเสมือนเกิดขึ้นใหม่จากเถ้าถ่าน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงและความมีชีวิตชีวา โดยคาดว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้อ้างถึงการประท้วงที่เกิดขึ้นในฮ่องกงช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนที่รัฐบาลจีนจะนำกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่เข้ามาใช้เพื่อพยายามปราบปรามผู้ชุมนุม
"อนาคตที่สดใสจะเกิดขึ้น หากเราก้าวไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น ตราบใดที่ทุกคนยังยึดมั่นในนโยบาย 'หนึ่งประเทศ สองระบบ' อย่างแน่วแน่ ฮ่องกงจะมีอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นไปอีก และสร้างคุณูปการใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในการฟื้นฟูชาติจีน"
อะไรจะเกิดขึ้นในอีก 25 ปีข้างหน้า?
การเมืองที่เปลี่ยนไป
คำถามสำคัญคือฮ่องกงจะคงความเป็นอิสระทางการเมืองและเสรีภาพไว้ได้มากเพียงใด ก่อนการส่งมอบ หลายคนหวังว่าในที่สุดจีนจะกลายเป็นเสรีนิยมมากขึ้น และในเวลาเดียวกันก็ยอมให้ฮ่องกงเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์เช่นกัน
นี่คือคำมั่นสัญญาที่ดำรงอยู่ในกฎหมายธรรมนูญของฮ่องกง ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับย่อที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างอังกฤษและจีน
กฎหมายระบุเงื่อนไขการปฏิรูปการเลือกตั้งแบบก้าวหน้า เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงและสมาชิกสภานิติบัญญัติทุกคนได้รับการเลือกตั้งผ่านการลงคะแนนเสียงแบบสากล
แต่นักวิจารณ์บางคนคิดว่าจีนได้ทำลายคำสัญญานี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่เข้มงวด และการปฏิรูปการเลือกตั้งที่อนุญาตให้เฉพาะ "ผู้รักชาติ" เท่านั้นที่จะลงสมัครรับตำแหน่งผู้นำของฮ่องกง
...
กฎหมายปี 2020 ดำเนินการตามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในปี 2019 ซึ่งรวมถึงการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจ
ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า มีความหวังเพียงน้อยนิดสำหรับระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และพวกเขากลัวว่าลักษณะโดยพื้นฐานของเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยที่ปักกิ่งเป็นผู้ควบคุมอย่างเต็มรูปแบบ
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติส่งผลกระทบต่อชนกลุ่มน้อย แต่นายเท็ด ฮุ่ย อดีต ส.ส. ซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวยับยั้งภาคประชาสังคมของฮ่องกงหลายสิบกลุ่ม ที่ครั้งหนึ่งแสดงการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับกลุ่มพรรคการเมืองและสหภาพแรงงานที่ถูกยุบเลิกไปแล้ว การจุดเทียนประจำปีเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 และการเดินขบวนครบรอบ 1 กรกฎาคม ถูกทางการสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด
สื่อที่สนับสนุนประชาธิปไตยหลายแห่ง รวมถึง "แอปเปิล เดลี่" (Apple Daily) และ "สแตนด์ นิวส์" (Stand News) ได้ปิดตัวลงในปีที่ผ่านมา
ฮ่องกง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเสาหลักของเสรีภาพสื่อในเอเชีย ได้รับการจัดอันดับที่ 148 ของโลกสำหรับเสรีภาพสื่อในปีนี้ โดยร่วงลงเกือบ 70 อันดับตั้งแต่ปีที่แล้ว และ "เมืองแห่งการชุมนุม" ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการประท้วงอย่างสันติ ได้เงียบลงตั้งแต่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติมีผลบังคับใช้
เจฟฟรีย์ โหงว นักวิจัยด้านนโยบายและการวิจัยของสภาประชาธิปไตยฮ่องกง (Hong Kong Democracy Council) ซึ่งมีสำนักงานในสหรัฐฯ กล่าวว่า "เป็นเรื่องที่ยุติธรรมที่จะบอกว่าไม่มีการประท้วงขนาดใหญ่ในฮ่องกงในอนาคตอันใกล้"
"เริ่มต้นในปี 2020 คุณมีคนในฮ่องกงที่ต้องติดคุกและไม่สามารถทำอะไรได้ หรือบางคนที่พยายามจะออกจากคุกเพื่อเซนเซอร์ตัวเองด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้"
...
เจ้าหน้าที่จีนอ้างว่า การเปลี่ยนแปลงเมื่อเร็วๆ นี้เป็น "การปรับปรุง" ที่จำเป็นต่อ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ซึ่งพวกเขายกย่องว่าเป็น "ความสำเร็จที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง" ที่อาจดำเนินต่อไปจนถึงปี 2047
นายโดมินิก ลี ส.ส.ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลจีน ยังให้เหตุผลว่า คนฮ่องกงยังคงเพลิดเพลินกับเสรีภาพพลเมือง
"ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้ ตราบใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ จะมีการพิจารณาคดีเพิ่มเติม และศาลจะตัดสินว่าสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ"
นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า รัฐบาลจีนผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติและเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง เนื่องจากฮ่องกงกำลัง "กลายเป็นการเมือง" และเข้าสู่จุดวิกฤติในปี 2562 เมื่อสภานิติบัญญัติกลายเป็นอัมพาต เนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย
"ถ้าคุณถามผม ทั้งกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ และการเปลี่ยนแปลงกฎการเลือกตั้งล้วนแต่เป็นฝีมือของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย" พร้อมเสริมว่าเสียงที่เป็นกลางนั้น "ถูกทำให้ด้อยค่า"
นายลีเชื่อว่าคุณลักษณะที่โดดเด่นหลายประการของฮ่องกงยังคงมีอยู่ และมีแนวโน้มว่าจะคงเหมือนเดิมหลังจากปี 2590
"ผมไม่สามารถพูดแทนรัฐบาลกลางได้ แต่ผมคิดว่าเป้าหมายหลักคือการรักษาความมั่งคั่งของฮ่องกง"
...
สู่อนาคตที่สดใส?
นับจากนี้ต่อไปในอนาคต ฮ่องกงจะเดินหน้าไปในทิศทางใด อาจสะท้อนได้จากนโยบายประจำปี 2564 ที่ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงประกาศไว้ในหัวข้อ "Building a Bright Future Together" (ร่วมสร้างอนาคตที่สดใส) ซึ่งคาดการณ์ถึงอนาคตของฮ่องกง ด้วยเหตุผล 3 ข้อ ได้แก่
-ในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการคืนสู่จีนในปี 2565 ฮ่องกงจะกลับคืนสู่หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" จากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ โดยเน้นย้ำว่า "หนึ่งประเทศ" คือฐานรากของหลักการดังกล่าว พร้อมปรับปรุงระบบเลือกตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้คนรักชาติเข้ามาบริหารฮ่องกงอย่างแท้จริง
-ฮ่องกงพร้อมรับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในด้านการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 โดยเฉพาะในพื้นที่ Greater Bay Area (GBA) และยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน
-ฮ่องกงยังคงยึดมั่นในจุดแข็งที่มีมาแต่เดิม เช่น หลักนิติธรรม ความเป็นอิสระของตุลาการ รวมทั้งสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ เห็นได้จากการครองอันดับทางเศรษฐกิจ เป็นอันดับที่ 7 ของโลก ใน Global Financial Centres Index เมื่อกันยายน 2564 และอันดับ 2 ของโลกใน IMD World Digital Competitiveness 2021 รวมทั้งยังเป็นอันดับ 2 ของโลก ในด้านศูนย์กลางของการระดมทุน IPO และการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทด้านไบโอเทค
นอกจากนี้ ฮ่องกงจะยังดำรงความเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เห็นได้จากการที่รัฐบาลฮ่องกงได้ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ และการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการบริหารจัดการความมั่งคั่งข้ามพรมแดน เพื่อสนับสนุนการบูรณาการทางการเงินระหว่างฮ่องกงกับจีน ยิ่งไปกว่านั้นฮ่องกงจะยกระดับศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่ระดับสากล โดยการพัฒนาการวิจัยและพัฒนาพื่อประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม และการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นสําคัญ ได้แก่
-เทคโนโลยีชีวภาพ
-เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ
-วิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ หรือศูนย์กลางการเงินจีน?
อีกคำถามหนึ่งคือ ฮ่องกงจะสามารถรักษาสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศชั้นนำได้หรือไม่
ในปี 2540 ฮ่องกง เจ้าของฉายา "ไข่มุกแห่งตะวันออก" เป็นเมืองแห่งความมั่งคั่ง ซึ่งมีจีดีพีเท่ากับเกือบ 1 ใน 5 ของจีน ตอนนี้เหลือเพียง 2% เท่านั้น และฮ่องกงกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากเมืองอื่นๆ ในจีน โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้
หลุยส์ คูจส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ S&P Global Ratings กล่าวว่า "เมื่อ 25 ปีที่แล้ว เมื่อจีนมีการพัฒนาน้อยกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ฮ่องกงมีความโดดเด่นในฐานะเมืองที่มีความเชื่อมโยงระดับนานาชาติที่ได้รับการพัฒนาอย่างมาก แต่ตอนนี้หลายเมืองไล่ตามฮ่องกงทันแล้ว"
เขากล่าวว่า เมืองนี้ยังคงเป็น "ประตูทางเข้าและออกจากจีน" ที่มีความโดดเด่น เนื่องจากมีระบบกฎหมายและตลาดการเงินที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเปิดกว้างมากสำหรับหลายประเทศในโลก แต่ความตึงเครียดกับรัฐบาลจีนเมื่อเร็วๆ นี้ และกลยุทธ์ปลอดโควิดที่เข้มงวด ทำให้หลายคนถามว่าเมืองนี้กำลังสูญเสียสิ่งที่น่าดึงดูดใจกับบริษัทต่างชาติหรือไม่
จำนวนสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคของบริษัทระหว่างประเทศในฮ่องกงลดลงเกือบ 10% จากปี 2561 ถึง 2564 แต่จำนวนบริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาตั้งสำนักงาน เพิ่มขึ้นเกือบ 28%
"หน้าตาของฮ่องกงกำลังพัฒนาขึ้น และอาจกลายเป็นประเทศที่มีความสากลน้อยลง และมีความเป็นแผ่นดินใหญ่มากขึ้น"
ชาวฮ่องกง หรือชาวจีน?
คำถามที่น่าสนใจที่สุดข้อหนึ่งคือ ความหมายของการเป็นชาวฮ่องกง จำนวนชาวฮ่องกง
พลัดถิ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่จำนวนคนในท้องถิ่นที่ออกจากเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากำลังเพิ่มขึ้น
เจ้าหน้าที่ฮ่องกงไม่ติดตามการย้ายถิ่นฐาน แต่ผู้ที่ย้านถิ่นฐานออกไปอย่างถาวรหลายคน มีแนวโน้มว่าจะย้ายไปสหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับคำขอวีซ่า BNO มากกว่า 123,000 รายการ นับตั้งแต่การประกาศในเดือนมกราคม 2564 จนถึงสิ้นเดือนมีนาคมปีนี้
ราว 70% ของประชากรฮ่องกง 5.4 ล้านคน สามารถยื่นขอวีซ่าดังกล่าวได้ ซึ่งทำให้ผู้ถือสิทธิในการอยู่อาศัยและทำงานในสหราชอาณาจักรได้
ความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้เกิดกระแสการอพยพย้ายถิ่นฐานในฮ่องกงในอดีต เช่น เมื่อมีการลงนามในปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ ในปี 2527 หรือหลังจากการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง ปี 2532
แต่นายโหงว เชื่อว่า ครั้งนี้อาจไม่เหมือนเดิม "สำหรับผู้ที่อพยพออกไปก่อนหน้านี้ ภัยคุกคามทางการเมืองเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่สิ่งต่างๆ อาจจะไม่เลวร้ายนัก ตอนนี้ความเป็นไปได้สูญสิ้นไปแล้ว ครั้งนี้ผู้คนต่างอพยพออกจากฮ่องกงด้วยความคาดหวังว่าพวกเขาอาจจะไม่กลับมาอีก"
นายโหงว กล่าวว่า คนพลัดถิ่นมีแนวโน้มที่จะยึดมั่นในตัวตนของพวกเขาในฐานะชาวฮ่องกง และนักเคลื่อนไหวในหมู่พวกเขา อาจจะยังคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกงต่อไป และ "สร้างการต่อต้านจากต่างประเทศ"
แต่นายลีเชื่อว่า คนรุ่นใหม่ที่เติบโตในฮ่องกงจะมีความรักชาติมากขึ้น "ลูกของผมพูดถึงพิธีเชิญธงชาติ และบางครั้งก็ร้องเพลงชาติจีนอย่างเป็นธรรมชาติ สำหรับคนรุ่นนี้ พวกเขาอาจไม่มีความรู้สึกเหมือนกับคนหนุ่มสาวที่ออกมาเดินถนนในปี 2019"
ขณะที่บางคน เช่นนายโหงว กังวลว่าสิ่งนี้ต้องแลกมาด้วยเอกลักษณ์ที่สำคัญของฮ่องกง
"สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือฮ่องกงและจีนจะไม่แยกออกจากกันอย่างมีความหมายอีกต่อไปภายในปี 2590"
ที่มา: บีบีซี, รัฐบาลฮ่องกง, เดอะ เจแปน ไทมส์