วิกฤติโควิด-19 ทำให้หลายประเทศประสบปัญหาแรงงาน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติอย่างสาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างธันวาคม 2019-กันยายน 2021 สิงคโปร์มีแรงงานต่างชาติลดลงถึง 235,700 คน ทำให้ธุรกิจหลายอย่างที่ต้องพึ่งพาแรงงานหยุดนิ่งอยู่กับที่ ครั้นจะไปพึ่งพาแรงงานในประเทศของตนเอง สิงคโปร์ก็มีประชากรไม่พอ
ทางแก้ไขของสิงคโปร์คือ การหันมาใช้หุ่นยนต์ในการทำงาน ใช้กันตั้งแต่หุ่นยนต์สำรวจการก่อสร้างจนถึงหุ่นยนต์ที่เป็นบรรณารักษ์ทำหน้าที่ในห้องสมุด ตอนนี้บริษัทก่อสร้างของสิงคโปร์นำหุ่นยนต์ 4 ขาชื่อสปอตของบอสตันไดนามิคส์ บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำ ของสหรัฐฯเข้าไปใช้ในไซต์งานก่อสร้างในสิงคโปร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แม้หุ่นยนต์จะมีราคาแพง แต่ก็ทำงานทดแทนแรงงานมนุษย์ได้ แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางประเทศ หุ่นยนต์สปอต 4 ขา สีเหลือง ราคาตัวละ 7.5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (2.5 ล้านบาท) สามารถเดินเข้าไปในเขตก่อสร้างที่เต็มไปด้วยโคลนและก้อนหินที่วางอย่างระเกะระกะ เพื่อตรวจดูความก้าวหน้าของงาน หลังจากนั้นก็ส่งข้อมูลกลับมาให้ห้องคอนโทรลของสำนักงานใหญ่ของบริษัทก่อสร้าง หุ่นยนต์สปอต 1 ตัว สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ได้ 2 คน และทำงานยากลำบากที่มนุษย์ทำไม่ได้
ขณะนี้ ที่หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ใช้หุ่นยนต์เพียง 2 ตัว ทำหน้าที่สแกนบาร์โค้ดสำหรับหนังสือแสนเล่ม หรือร้อยละ 30 ของหนังสือทั้งหมดในหอสมุด บรรณารักษ์ที่เป็นมนุษย์ไม่จำเป็นต้องอ่านเลขหมู่หนังสือทีละเล่มอีกต่อไป หุ่นยนต์กวาดสายตาพรวดเดียวก็สแกนบาร์โค้ดได้ทีละแสนเล่ม ผู้อ่านท่านลองจินตนาการดูเถิดครับ ว่าหุ่นยนต์ช่วยลดภาระงานประจำซ้ำซากลงไปได้มากขนาดไหน ความต้องการหุ่นยนต์ในประเทศที่มีแรงงานน้อยจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ที่สิงคโปร์ใช้แรงงานหุ่นยนต์ 605 ตัว แทนแรงงานมนุษย์ 1 หมื่นคนในภาคอุตสาหกรรม
...
ก่อนที่จะมีโควิด-19 ทีมงานเปิดเลนส์ส่องโลกได้รับเชิญไปศึกษาและถ่ายทำสารคดีโรงเรียนอนุบาล ประถม และมัธยมในเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเล็กใหญ่ขนาดไหนก็ตาม จะต้องมีแผนกหุ่นยนต์หรือมีห้องหุ่นยนต์ให้นักเรียนเข้าไปเรียนตั้งแต่เด็ก ในการบรรยายสรุปของแต่ละโรงเรียน ผู้บรรยายให้ความสำคัญกับวิชาที่จะนำไปใช้ได้จริงในอนาคตคือหุ่นยนต์และโดรน 4 ปีที่แล้ว วิสัยทัศน์ของโรงเรียนชั้นประถม มัธยมของยุโรปให้ความสำคัญกับ 2 สิ่งนี้ หลายคนเชื่อว่า การขนส่งมนุษย์และสิ่งของต่อไปในอนาคตอาจจะไม่ใช้เครื่องบิน ซึ่งต้องใช้สนามบินใหญ่โตโอฬารในการให้เครื่องบินขึ้น-ลง แต่จะหันไปใช้โดรนเป็นหลัก
รับใช้ถึงเรื่องแรงงานแล้วก็นึกถึงแรงงานในภาคเกษตรของประเทศไทย ที่ในปัจจุบันเป็นพี่น้องแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก องค์ความรู้ด้านการเกษตรถ่ายทอดไปสู่แรงงานเหล่านี้เกือบทั้งหมดทั้งสิ้น แรงงานต่างชาติหลายคนที่เคยทำงานในสวนของไทย เมื่อกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองก็ไปทำการเกษตรด้วยความรู้และประสบการณ์ที่มีอย่างเพียงพอจากประเทศไทย เมื่อทำเกษตรในประเทศตนเองได้ผลดี ก็ไม่อยากกลับมาทำงานในประเทศไทยแล้วครับ ทำให้เกษตรหลายแปลงในประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน และมีปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
การแก้ไขก็ต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเกษตร เช่น การผลิตโดรนที่มีประสิทธิภาพเพื่อการให้ปุ๋ย ยาหรือชีวภัณฑ์ไล่แมลง ไทยเป็นประเทศที่มีโรงเรียน วิทยาลัย สถาบัน และมหาวิทยาลัยด้านเกษตรศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในระดับสากล ควรมีการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรมากกว่าในปัจจุบัน
การเกษตรผลิตอาหารให้กับมนุษยชาติ ยุทธศาสตร์ของเราควรเป็นเรื่องการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่ออาหารคนและสัตว์สำหรับอนาคต ความฝันเหล่านี้จะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยแรงงานที่มีความรู้ ประสบการณ์ และศักยภาพ
เพื่อป้องกันการขาดแคลนแรงงานด้านเกษตรและด้านขนส่ง รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ อาจจะนำหลักสูตรการสอนตั้งแต่อนุบาล ประถม และมัธยมมาปรับใช้ ก็อย่างที่เรียนไปแล้วครับคือเรื่องหุ่นยนต์และโดรน ที่เราทั้งหลายอาจจะต้องใช้ในอนาคต.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com