ศรีลังกาผิดชำระหนี้ต่างประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงสุดในรอบกว่า 70 ปี

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า ศรีลังกาผิดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศแล้ว หลังจากเส้นตาย 30 วันสำหรับให้พวกเขาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้จากต่างประเทศจำนวน 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หมดลงเมื่อวันพุธที่ 18 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา

นาย พี.นันดาลัล วีระสิงเห ผู้ว่าธนาคารกลางศรีลังกาบอกกับผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสบดี หลังจากถูกถามว่า ตอนนี้ประเทศผิดชำระหนี้แล้วหรือไม่ว่า “จุดยืนของเราชัดเจนมาก เราเคยพูดว่าจนกว่าพวกเขาจะปรับโครงสร้างหนี้ของเรา เราจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ นั่นคือสิ่งที่คุณเรียกว่า ช่วงก่อนผิดชำระหนี้ (pre-emptive default)”

“มันสามารถตีความหมายทางเทคนิคได้ จากมุมมองของพวกเขาก็อาจถือได้ว่า เป็นการผิดชำระหนี้ ส่วนฝั่งเราก็ชัดเจนมาก จนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ เราจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้” นายวีระสิงเหกล่าว

ทั้งนี้ การผิดชำระหนี้ของประเทศหนึ่งๆ จะเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือหนี้ทั้งบางส่วนหรือทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศนั้นๆ ทำให้พวกเขากู้เงินจากตลาดสากลได้ยากขึ้น อันจะยิ่งส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในค่าเงินและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

ตอนนี้ศรีลังกากำลังหาทางเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่มีมากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปีซึ่งเกิดจากการระบาดของโควิด-19, ราคาพลังงานเพิ่มสูง และมาตรการประชานิยมอย่างการลดภาษี

...

ศรีลังกาได้เริ่มคุยกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรื่องการขอเงินช่วยเหลือไปแล้ว และพวกเขาจำเป็นต้องเจรจาข้อตกลงเรื่องหนี้สินกับผู้ให้กู้อีกครั้ง โดยรัฐบาลศรีลังกาคาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ในปีนี้พวกเขาอาจต้องการเงินมากถึง 4 พันล้านดอลลาร์