• องค์การอนามัยโลกเตือน มนุษย์เกือบทุกคนบนโลกใบนี้ราว 99 เปอร์เซ็นต์ ล้วนแล้วแต่หายใจเอาอากาศที่มีมลพิษเกินค่ามาตรฐานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเข้าไป
  • จากข้อมูลยังพบด้วยว่า ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป มีไมโครพลาสติก และไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อสุขภาพของเราทั้งสิ้น
  • ผลการศึกษาของเนเธอร์แลนด์ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว พบว่ามีคนจำนวนมากที่มีอนุภาคไมโครพลาสติกในเลือดและอวัยวะ ซึ่งจะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด และการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กด้วย

องค์การอนามัยโลกประกาศเตือนไปยังคนทั่วโลก หลังพบข้อมูลว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของมนุษย์ทั่วโลก อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูง และกำลังหายใจเอาอากาศที่เป็นมลพิษเข้าไปในร่างกาย

องค์การอนามัยโลกยังเตือนด้วยว่า มลพิษทางอากาศเหล่านี้กำลังทำให้สุขภาพของทุกคนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะยาว โดยในแถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือค่า PM และไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นประเด็นหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กจะสามารถเข้าไปสู่ปอดและเข้าไปสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งพบว่าประชาชนในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ และปานกลาง เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด

...

โดยปัจจุบันนี้มีเมืองกว่า 6,000 เมือง จาก 117 ประเทศทั่วโลก ที่ต้องเฝ้าจับตาและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ โดยเป็นเป้าหมายใหม่ที่จะทำให้คุณภาพอากาศสะอาดขึ้น อย่างไรก็ตาม การเฝ้าติดตามคุณภาพอากาศเป็นเพียงก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวเท่านั้น แต่องค์การอนามัยโลกเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั่วโลกจะต้องลงมือทำมากกว่านั้น

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยของเนเธอร์แลนด์ที่เผยแพร่มาเมื่อเดือนที่แล้วพบข้อมูลที่น่าตกใจ เมื่อพบว่า มีไมโครพลาสติก หรืออนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ปนเปื้อนอยู่ในกระแสเลือดของคนทั่วไป ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างมากต่อทั้งระบบภูมิคุ้มกัน และระบบต่อมไร้ท่อต่างๆ

ฟิลิป แลนดริแกน ผู้อำนวยการหน่วยสังเกตการณ์มลพิษและสุขภาพโลก ระบุว่า พลาสติกเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพมนุษย์ในทุกๆ ช่วงของสายการผลิต นับตั้งแต่ขั้นตอนการสกัด ฟอสซิล คาร์บอน น้ำมัน และแก๊ส ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตพลาสติก การนำไปใช้งาน และการกำจัดทิ้ง ไมโครพลาสติกยังเป็นอันตรายต่อการไหลเวียนของเลือด ซึ่งหากมีการสะสมกันจำนวนมาก อาจทำให้ออกซิเจนไม่สามารถเข้าไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้

กลุ่มเด็กเล็ก นับเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะเมื่อไมโครพลาสติกเข้าไปสู่กระแสเลือด และอวัยวะต่างๆ ของพวกเขาตั้งแต่อายุยังน้อย อาจจะส่งผลต่อการพัฒนาอวัยวะต่างๆ อย่างสิ้นเชิง ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ก็อาจจะส่งต่อไมโครพลาสติกไปยังเด็กในครรภ์ได้เช่นกัน หากอนุภาคเหล่านั้นสามารถเข้าไปในรกของเธอได้

ขณะที่ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เช่นกัน โดยไนโตรเจนไดออกไซด์จะเกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด และจะนำไปสู่อาการต่างๆ เช่น ไอ เสียงหวีด หรือหายใจลำบาก ซึ่งอาจจะรุนแรงถึงขั้นต้องเข้าห้องฉุกเฉิน

ดร.มาเรีย เนยรา ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศเปลี่ยนและสุขภาพ องค์การอนามัยโลก ระบุว่า หลังจากที่ผ่านพ้นจากโรคระบาดมาได้ แต่คนอีกหลายล้านคนก็ยังต้องมาเสียชีวิต หรือล้มป่วยจากภาวะที่ป้องกันได้อย่างมลพิษทางอากาศ ที่นับวันจะสูงขึ้นทุกที ทั้งๆ ที่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอยู่ โดยแนะนำให้ประเทศต่างๆ วางนโยบายลดมลพิษให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการ อย่างเช่นการเพิ่มการลงทุนในระบบขนส่งมวลชน ใช้จักรยานแทนรถยนต์มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการลงทุนเครื่องใช้ในครัวเรือนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มิเช่นนั้นลูกหลานของเราคงไม่มีโอกาสได้หายใจได้เต็มปอดอีกต่อไป.

...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : WHO, เดลี่เมล