นักวิทยาศาสตร์ของสหประขาขาติ เปิดเผยแผนที่พวกเขาเชื่อว่าสามารถจำกัดสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้แล้ว โดยโลกต้องเริ่มลงมือตอนนี้ มิเช่นนั้นจะไม่ทันการณ์
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า หลังจากการประชุมเครียดของนักวิทยาศาสตน์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลของหลายประเทศ ซึ่งมีการโต้เถียงกันอย่างหนัก ในที่สุด คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ก็สามารถเผยแพร่รายงานแนวทางที่โลกควรทำ เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพอากาศสุดขั้วในอนาคตออกมาแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 4 เม.ย. 2565
รายงานดังกล่าวเปิดเผยถึงข่าวร้ายเป็นลำดับแรก ระบุว่า ต่อให้นโยบายลดการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดที่รัฐบาลทั่วโลกเริ่มใช้ในสิ้นปี 2563 มีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ อุณหภูมิโลกก็จะยังอยู่บนเส้นทางของการทะลุขีดจำกัดที่ 1.5 องศาเซลเซียส และจะเพิ่มเป็น 3.2 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้
การค้นพบดังกล่าวทำให้นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติออกมาตำหนิรัฐบาลและธุรกิจต่างๆ อย่างรุนแรง “บางรัฐบาลและผู้นำธุรกิจพูดอย่างหนึ่ง แต่กำลังทำอีกอย่าง พูดง่ายๆ พวกเขากำลังโกหก และผลลัพธ์ก็คือหายนะ”
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในระดับนั้น หมายความว่า โลกของเราจะเผชิญภาวะคลื่นความร้อน, พายุรุนแรง และปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงชะตานั้น นักวิทยาศาสตร์เตือนมานับสิบปีแล่วว่า โลกต้องคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
รายงานล่าสุดของ IPCC ยังมีข่าวดีคือยังมีเวลาพอที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก แต่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในภาคการผลิตพลังงาน, อุตสาหกรรม, การคมนาคม, การบริโภค และวิธีที่มนุษย์ปฏิบัติต่อธรรมชาติ โดย IPCC ระบุว่า ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลกจะต้องถึงจุดสูงสุดภายในปี 2568 หรือ 3 ปีข้างหน้า และจากนั้นต้องลดลงอย่างรวดเร็วและไปให้ถึงระดับ ศูนย์สุทธิ (net-zero) ภายในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21 และต้องลดหรือกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศให้ได้ในครึ่งศตวรรษหลัง
...
ศ.เฮลีน เดอ โคนิงค์ ศาสตราจารย์ด้านสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเฟน และเป็นหัวหน้าผู้เขียนรายงานฉบับล่าสุดของ IPCC บอกกับ บีบีซี ว่า “ฉันคิดว่ารายงานฉบับนี้กำลังบอกว่าเรามาถึงจุดที่ ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็จะหมดโอกาสในการควบคุมอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว”
หนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นคือ เปลี่ยนวิธีผลิตพลังงาน โดย นางไคซา โคโซเนน จากองค์กรกรีนพีซซึ่งเข้าร่วมการประชุมของ IPCC ด้วยระบุว่า นี่คือเกมโอเวอร์สำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งกำลังกระตุ้นทั้งสงครามและวิกฤติสภาพภูมิอากาศในตอนนี้ “ไม่มีที่ว่างสำหรับการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ๆ แล้ว และโรงงานถ่านหินกับก๊าซธรรมชาติที่เรามีอยู่แล้ว จำเป็นต้องปิดโดยเร็ว”
นอกจากนั้น เรื่องอาหารและการใช้ชีวิตของผู้คนก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อการปล่อยคาร์บอน “การมีนโยบาย, โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีที่ถูกต้องมาใช้ เพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตเกิดขึ้นจริง จะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 40-70% ภายในปี 2593” นายปรียาดาร์ชิ ชุคลา ประธานร่วมของ IPCC กล่าว “หลักฐานยังแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตจะช่วยพัฒนาสุขภาพและสวัสดิภาพของเราได้ด้วย”
สำหรับในภาพปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตหมายถึง รัฐบาลต่างๆ ต้องสนับสนุนการเดินและการทานอาหารเพื่อสุขภาพให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนี้
ขณะที่หนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงมากที่สุดในรายงานฉบับนี้คือ การกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำได้ด้วยหลายวิธี รวมถึงการปลูกต้นไม้และเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตร แต่วิธีการเหล่านั้นเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โลกจำเป็นต้องมีเครื่องจักรสำหรับกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศโดยตรง
เทคโนโลยีที่ว่าถือเป็นของใหม่และปัจจุบันยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ขณะที่ผู้ร่วมการประชุมอนุมัติรายงานของ IPCC หลายคนก็แสดงความกังขาอย่างมากว่า วิธีการเหล่านี้จะใช้ได้ผลจริงหรือไม่