ช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สภาพน้ำในคลองเวนิสของอิตาลี มีระดับความสูงไม่ถึง 50 เซนติเมตร ไม่รวมลำคลองสายเล็กสายน้อยที่ระดับน้ำลดลงอย่างผิดปกติ ส่งผลให้เรือก็อนโดลานับร้อยลำจอดนิ่งสนิท เป็นปรากฏการณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น

ในรอบ 5 ปีมานี้เวนิส เริ่มเผชิญกับความไม่สมดุลของปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงผิดปกติ นอกจากปัญหาน้ำท่วมซึ่งเคยเป็นปัญหาของเวนิส ที่ทำให้สถาปัตยกรรมยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) ของเวนิสได้รับความเสียหายทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วม

ไม่ใช่เฉพาะเวนิสที่ต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของ Climate Change แต่หลายที่ในโลกก็กำลังเผชิญกับความเลวร้ายของสภาวะที่เรียกว่า “โลกรวน” ไม่ต่างกัน

...

นักวิชาการระบุว่า ปรากฏการณ์น้ำแห้ง น้ำท่วมในเมืองเวนิส เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลง ระดับน้ำทะเลที่มีน้ำขึ้น-ลงผิดปกติ รวมถึงแผ่นดินที่ทรุดตัว

ข้อน่าสังเกตคือ โดยปกติ สภาพความแปรปรวนแบบสุดขั้ว เช่นนี้ หากเกิดขึ้นตามธรรมชาติอาจต้องใช้เวลานับล้านปี แต่ทุกวันนี้ กลับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่สิบปีจากน้ำมือของมนุษย์

ปี 2021 ที่ผ่านมา ในช่วงเดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคม หลายพื้นที่บนโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนผิดไปจากอุณหภูมิปกติเดิมทำให้เกิดผลกระทบมากมายจากสภาพอากาศที่ร้อนและหนาวอย่างหนัก

หลายพื้นที่ในแถบทวีปอเมริกาเหนือ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา ต้องเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อน (Heat Wave) อย่างหนักในช่วงเดือนมิถุนายน 2021 อย่างเช่นหมู่บ้านลิททัน (Lytton) ในเขตบริติชโคลัมเบียของแคนาดา มีอุณหภูมิสูงเกือบ 50 องศาเซลเซียส เป็นสถิติอุณหภูมิที่สูงที่สุดในรอบกว่า 80 ปี หรือหุบเขามรณะ (Death Valley) ในสหรัฐอเมริกา ก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 54.4 องศาเซลเซียส

แต่สถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดของโลกในปี 2021 เห็นจะเป็นทะเลทรายลุต หรือดาชต์เอลุต (Dasht-e Lut) ในประเทศอิหร่าน ข้อมูลจากดาวเทียมขององค์การนาซาระบุว่า ดาชต์เอลุต มีอุณหภูมิสูงถึง 80.8 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับใจกลางกรุงคูเวตซิตี้ของคูเวต ที่อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 70 องศาเซลเซียสในบริเวณกลางแจ้งรับแสงแดดโดยตรง

...

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความร้อนที่เพิ่มขึ้นทั้งโลกนี้เป็นผลโดยตรงมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งนับวันกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังก้าวเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า “สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว” หรือ Extreme Weather Event ที่ทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนจัด หนาวจัด ฝนตก พายุที่รุนแรง ไฟป่าที่เกิดบ่อยครั้งมากขึ้น หรือแม้แต่ภัยแล้งจัด เช่น ในจีนและบราซิล ฯลฯ

สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างสุดขั้วนี้สร้างความกังวลแก่นักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะมันไม่ได้ค่อยๆเกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งใช้เวลานับล้านปี แต่มันเกิดจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาไหม้ถ่านหิน การใช้น้ำมันและก๊าซอย่างรวดเร็ว

...

ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) หลายเรื่องมีความ “น่ากลัว” อยู่ไม่น้อย เช่น ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นแล้ว 1.09 องศาเซลเซียส ถือเป็นอัตราที่เร็วและน่ากลัวมาก เพราะในอดีตการเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสของอุณหภูมิโลกใช้เวลานานมาก อาจจะถึง 50-100 ปีเลยทีเดียว อุณหภูมิโลกที่เคยคาดกันว่าอาจสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้หรืออีก 80 ปีข้างหน้า จะเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม โดยคาดว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2040 หรืออีก 20 ปีข้างหน้านี้เท่านั้น

วันนี้เราได้เห็นทั้งคลื่นความร้อน น้ำในคลองเวนิสที่แห้งขอด อากาศหนาวสุดขั้ว อย่างในชิคาโกที่เคยเผชิญกับอุณหภูมิต่ำสุดถึงเกือบ -50 องศาเซลเซียส หรือที่มาดริด สเปน อุณหภูมิลดต่ำลงเหลือ -12 องศาเซลเซียส และอีกหลายภัยพิบัติที่เริ่มเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มานับร้อยปี รวมไปถึงโรคระบาดอย่าง COVID-19 ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนทั้งโลก

อาจจะถึงเวลาแล้วที่ชาวโลกต้องเริ่มตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือกับ New Normal ที่เกิดจากโลกร้อน โลกรวน และทำให้ผู้คนแปรปรวนกันทั้งโลกในอีกไม่นานนี้.