- การประท้วงรุนแรงที่คาซัคสถาน จากประเด็นต่อต้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ที่แพงขึ้น บานปลายไปสู่การโค่นล้มรัฐบาล มีผู้เสียชีวิตหลายสิบศพ บาดเจ็บอีกกว่า 1,000 คน นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 18 ศพ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ มีผู้ประท้วงถูกจับกุมตัวไปมากกว่า 4,400 ราย
- ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศได้ส่งผลต่อเสถียรภาพอำนาจในกลุ่มผู้นำทางการเมือง หลังมีคำสั่งถอดอดีตผู้นำออกจากตำแหน่งประธานสภาความมั่นคง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าไม่ต่างจากการทำรัฐประหารเงียบ
- สถานการณ์ประท้วงที่ขยายวงรุนแรงอย่างรวดเร็ว อาจเป็นการสะท้อนความอัดอั้นตั้งใจตลอด 3 ทศวรรษที่ชาวคาซัคสถานมีต่อระบบการเมืองเก่าที่ฝั่งรากลึก
จุดเริ่มต้นชาวคาซัคสถานออกมาชุมนุมประท้วง
นับตั้งแต่เป็นรัฐเอกราช คาซัคสถานเป็นหนึ่งในโมเดลความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านของประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต การเมืองของคาซัคสถานเรียกได้ว่ามีเสถียรภาพตลอด 30 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีนูร์สุลตาน นาซาร์บาเยฟ ที่ชูนโยบาย "เศรษฐกิจมาก่อน" เรื่อยมาจนถึงการเปลี่ยนผ่านมาเป็นรัฐบาลของผู้นำคนปัจจุบันคือประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ต โตคาเยฟ
...
ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทองแดง แร่ต่างๆ และยูเรเนียม ตลอดจนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ก็ทำให้คาซัคสถานมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในบรรดาประเทศแถบเอเชียกลาง
ที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีข่าวการประท้วง หรือความไม่สงบเกิดขึ้นเลย แต่ในช่วงที่ชาวโลกกำลังเฉลิมฉลองปีใหม่ และอยู่กับครอบครัวในช่วงวันหยุดยาว ชาวคาซัคสถานก็ได้เริ่มออกมาชุมนุมกันในเมืองอัลมาตี เมื่อวันที่ 2 ม.ค. เพื่อแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลที่ตัดสินใจยุติการตรึงราคาก๊าซแอลพีจี ไว้ที่ 50 เท็งเกต่อลิตร หรือประมาณ 3.8 บาท ทำให้ราคาพุ่งไปถึง 120 เท็งเกต่อลิตรตามกลไกของตลาด
นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในคาซัคสถานนับตั้งแต่เป็นรัฐเอกราชเมื่อปี 2534 จุดเริ่มต้นอยู่ที่เมืองซานาโอเซน ทางตะวันตกของประเทศ ก่อนลุกลามไปยังเมืองอื่นๆ กระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลก็ถูกโหมกระพือขึ้นมา
ผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ก่อเหตุบุกเข้าไปยังที่พักประธานาธิบดี จุดไฟเผาสำนักงานเทศบาลในเมืองอัลมาตี เมืองใหญ่ที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ยังบุกเข้าไปในสนามบิน และออกมาเผารถยนต์อีกหลายคัน
ขณะที่รัฐบาลพยายามทำให้การประท้วงสงบลง ด้วยการประกาศกลับมาตรึงราคาก๊าซแอลพีจีอีกครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน จากนั้นรัฐบาลก็ได้ประกาศลาออกทั้งคณะ แต่ก็ไม่เป็นผล สถานการณ์ประท้วงยังคงรุนแรงบานปลาย กระทรวงมหาดไทยคาซัคสถาน ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตหลายสิบศพ บาดเจ็บอีกกว่า 1,000 คน นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 18 ศพ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ มีผู้ประท้วงถูกจับกุมตัวไปมากกว่า 4,400 ราย
ดานิยาร์ คาสเซนอฟ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคาซัคสถาน ระบุว่า รัฐบาลโตคาเยฟอาจจะหารือกันเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในประเทศ อาจตัดสินใจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และสนับสนุนเงินช่วยเหลือประชาชนหวังว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างรู้และเข้าใจได้ว่าการปฏิรูปไม่มีอยู่จริง
ขณะที่เสียงตะโกน "Shal ket!" หรือ "คนแก่ต้องออกไป" จากปากผู้ประท้วงดังกึกก้องไปทั่วเมือง เมื่อสิ่งที่ชาวคาซัคสถานเอือมระอาจริงๆ คือ "ระบอบนาซาร์บาเยฟ" ที่ยังคงฝังรากลึกอยู่ นับตั้งแต่เขาก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อปี 2562 และไปดำรงตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ในช่วงยุคปี 1990 ตระกูลนาซาร์บาเยฟค่อยๆ เข้ายึดครองอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ของประเทศ จากนั้นก็ขยายอำนาจเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมทั้งก่อสร้าง ธนาคาร เทเลคอม และค้าปลีก
...
บรรดาลูกหลานของเขา โดยเฉพาะนายติมูร์ คูลิบาเยฟ ลูกเขาก็มีอำนาจยึดครองทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่ภาคการเงินไปจนถึงอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นตอปัญหาราคาพลังงานที่เกิดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นอำนาจเก่ายังคงปกครองคาซัคสถานอยู่ในฉากหลัง
การเมืองก็เช่นกัน ทุกคนในประเทศต่างเข้าใจว่าประธานาธิบดีโตคาเยฟเป็นเพียงนอมินี ไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงใดๆ ในประเทศเลย ถ้าจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็ต้องล้มทั้งระบบที่นาซาร์บาเยฟสร้างขึ้นมา
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ลงดาบเสรีภาพสื่อและสิทธิมนุษยชน ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านรัฐบาล บรรดาผู้สื่อข่าวและฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมืองต่างถูกปิดปาก ไม่ก็โดนจำคุกกันหมด
ที่ผ่านมาเคยเกิดการประท้วงบ้างประปรายในปี 2559 และ 2562 ผู้คนออกมาชุมนุมกันแบบไร้แกนนำ เพื่อโค่นล้มสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าระบอบนาซาร์บาเยฟ แต่ก็ไม่ส่งผลทำให้เกิดแรงสั่นกระเพื่อมใดๆ
เสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ระบบ
แม้สัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีโตคาเยฟจะประกาศว่า อดีตประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานสภาความมั่นคง แต่แทบไม่มีใครเชื่อว่าจะทำให้ผู้ประท้วงสงบลงได้ การประท้วงยังคงดุเดือด ผู้นำคาซัคสถานต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศนาน 15 วัน ประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้านยามวิกาล และห้ามการชุมนุม
...
ประธานาธิบดีโตคาเยฟ ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ออกคำสั่งถึงกองกำลังความมั่นคง ให้ "ยิงโดยไม่ต้องเตือน" เพื่อปราบกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล พร้อมร้องขอให้องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organisation-CSTO) ซึ่งมีรัสเซียเป็นแกนนำต้องส่งกองกำลังไปช่วย
แม้สถานการณ์จะส่อเค้าไม่ดี แต่หลายคนยังมีความหวังว่าคาซัคสถานยังไม่ใช่รัฐที่ล้มเหลว และเชื่อว่าการล่มสลายของระบบเก่านั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้เพียงแต่ต้องใช้เวลา สิ่งที่รัฐบาลคาซัคสถานทำในตอนนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา หรือคลี่คลายวิกฤติใดๆ แต่เป็นเพียงการยื้อเวลาอยู่ในอำนาจ และพยายามรักษาระบบเดิมไว้เท่านั้น ไม่มีทางที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ เพราะรัฐบาลเองต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น
รัสเซียกับจีนได้อะไรจากสถานการณ์ในคาซัคสถาน
ล่าสุดการประท้วงในคาซัคสถานเริ่มสงบลง โดยเฉพาะในเมือง อัลมาตี เมืองใหญ่ที่สุดของคาซัคสถาน และศูนย์กลางการประท้วงหลังจาก องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organisation-CSTO) ซึ่งมีรัสเซียเป็นแกนนำ ได้ส่งทหารไปช่วยรักษาความสงบกว่า 2,500 คน ตามคำร้องของของประธานาธิบดีโตคาเยฟ ที่กล่าวระหว่างคุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียว่า ยังมีการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในบางจุด
...
กรณีการแทรกแซงของรัสเซีย ในนามขององค์กรสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมทำให้นาย แอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังขาว่า จากการประเมินของเขาพบว่ารัฐบาลคาซัคสถานมีความสามารถเพียงพอที่จะจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงได้เอง แล้วทำไมต้องร้องขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย โดยบอกว่าหนึ่งบทเรียนที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคือ เมื่อรัสเซียเข้าไปในบ้านของคุณแล้ว บางครั้งก็เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้พวกเขาออกไป
ขณะที่กระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ตอบโต้อย่างสุดแสบว่า คำพูดของนายบลิงเคนเป็นการก้าวร้าว และบอกว่าเมื่อชาวอเมริกันเข้าไปในบ้านของคุณแล้วก็เป็นเรื่องยากที่คุณจะมีชีวิตอยู่ โดยไม่ถูกปล้นหรือข่มขืน
ในส่วนของจีน ประธานาธิบดีโตคาเยฟ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้สนทนากันทางโทรศัพท์กัน ซึ่งผู้นำจีนแสดงท่าทีคัดค้านความพยายามของ "กองกำลังต่างชาติ" ที่ต้องการบ่อนทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพของคาซัคสถาน และความพยายาม สร้างความเสียหายให้กับความร่วมมือระหว่างคาซัคสถานกับจีน
นอกจากนี้จีนเห็นด้วย กับการที่รัฐบาลคาซัคสถานใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อฟื้นฟูความสงบและบอกว่ารัฐบาลปักกิ่งพร้อมมอบความสนับสนุนที่จำเป็นให้แก่คาซัคสถาน เพื่อให้ก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากและยุ่งยากครั้งนี้
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าคาซัคสถานมีพรมแดนกว้างไกลติดกับรัสเซีย และจีน และเป็นพันธมิตร เป็นเขตอิทธิพลของสองมหาอำนาจ สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยาวนานย่อมไม่ส่งผลดีกับทั้งสองประเทศ หากการประท้วงยังยืดเยื้อต่อไปก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเข้าไปแทรกแซงจากประเทศอื่นๆ ที่เล็งเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในคาซัคสถานในอนาคต.
ผู้เขียน เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์