ปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่โลกต้องเผชิญการระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 ทั้งสายพันธ์ุเดลตาซึ่งครอบงำทั่วโลกในช่วงต้นปี และสายพันธ์ุโอมิครอน ที่เพิ่งอุบัติขึ้นมาใหม่เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ทำให้ความหวังที่พวกเราจะได้กลับไม่ใช้ชีวิตตามปกติ อาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อน
แต่นอกจากเรื่องโรคระบาดแล้ว มนุษย์ยังถูกเล่นงานโดยภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรงหลายระลอก ตั้งแต่แผ่นดินไหวใหญ่ในเฮติ ไปจนถึงพายุฝนกระหน่ำในยุโรปและเอเชีย อันเป็นผลจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้บรรยากาศอุ่นขึ้น กักเก็บความชื้นมากขึ้น ทำให้ฝนตกและความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น สร้างความเสียหายมากมายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยมี 10 เหตุการณ์ทางธรรมชาติที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุดในปีนี้ ซึ่งทำให้มีผู้เคราะห์ร้ายรวมไม่น้อยกว่า 3,800 ศพ
10. ภูเขาไฟเซเมรูในอินโดนีเซียปะทุ
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 ภูเขาไฟเซเมรู ในจังหวัดชวาตะวันออก ของอินโดนีเซีย ปะทุขึ้นมาหลังจากโดมลาวาบริเวณยอดเขาพังทลาย ทำให้ลาวาและคลื่นโคลนร้อนไหลเข้าใส่หลายหมู่บ้านเบื้องล่าง สังหารชาวบ้านแล้วอย่างน้อย 57 ศพ บาดเจ็บ 104 ราย สูญหายอีก 23 คน และกว่า 10,650 คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น
มีรายงานด้วยว่า ชาวบ้านไม่ได้รับแจ้งจากทางการว่าภูเขาไฟกำลังจะปะทุ ทำให้พวกเขาหลบหนีไม่ทัน จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายดังกล่าว ขณะที่มีอาคารบ้านเรือนถูกทำลายหรือเสียหายถึง 5,205 หลัง และจนถึงตอนนี้ ภูเขาไฟเซเมรูก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีทีท่าจะสงบลง
...
9. ทอร์นาโด 35 ลูกถล่ม 5 รัฐในสหรัฐฯ
ในช่วงวันที่ 10 และ 11 ธันวาคม เกิดทอร์นาโดอย่างน้อย 35 ลูกพัดถล่มพื้นที่ต่างๆ ใน 5 รัฐของสหรัฐฯ โดยเคนทักกีเป็นรัฐที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ศพ ตามด้วยรัฐ อิลลินอยส์ 6 ศพ, เทนเนสซี 5 ศพ และอาร์คันซอกับมิสซูรี ที่ละ 2 ศพ รวมทั้งหมดเป็น 93 ศพ ขณะที่บ้านเรือนถูกทำลายกว่า 1,000 หลัง
จำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวทำให้นี่เป็นเหตุพายุทอร์นาโดถล่มครั้งรุนแรงที่สุดในสหรัฐฯ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 และเป็นเหตุพายุทอร์นาโดที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐเคนทักกี มีผู้เสียชีวิตมากกว่าหายนะเมื่อปี 2432 ซึ่งมีผู้เคราะห์ร้าย 76 ราย
8. เฮอริเคนไอดาถล่มสหรัฐฯ
ไอดา เป็นพายุเฮอริเคนเขตร้อนความรุนแรงระดับ 4 ขึ้นฝั่งเมืองท่า พอร์ต โฟร์ชอน ของรัฐลุยเซียนาในวันที่ 29 ส.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 16 ปีหายนะเฮอริเคนแคทรินาพอดี และสร้างความเสียหายแก่รัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศทั้งหมด โดยเฉพาะที่ลุยเซียนากับนิวเจอร์ซีย์ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างกระทบประชาชนหลายแสนคน มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 115 ศพ
เฮอริเคนลูกนี้ยังทำให้เกิดฝนตกระดับทุบสถิติกับน้ำท่วมสูงในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ด้วย รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า กว่า 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ นับเป็นพายุที่สร้างความเสียหายมากที่สุดอันดับ 6 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ
7. ไซโคลนเตาะแต่ เล่นงานอินเดีย
ก่อนที่ไซโคลนเตาะแต่จะขึ้นฝั่งรัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย ในวันที่ 17 พ.ค. อิทธิพลของมันก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ศพ หลังจากขึ้นฝั่ง พายุลูกนี้ก็ทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม บริเวณชายฝั่งรัฐเกรละ, หมู่เกาะลักษทวีป, รัฐกัว, รัฐกรณาฏกะ และรัฐมหาราษฏระ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 169 ศพ สูญหายอีก 81 คน มีรายงานผู้เคราะห์ร้ายในปากีสถานด้วย 5 ศพ
ไซโคลนเตาะแต่ยังทำให้ประชาชนกว่า 200,000 คน ในรัฐคุชราตต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานกับการเกษตรบริเวณชายฝั่งตะวันตก เกิดไฟฟ้าดับ บ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
...
6. น้ำท่วมฉับพลันในอินเดีย-เนปาล
ยังอยู่ที่ประเทศอินเดีย แต่คราวนี้เป็นเดือนตุลาคม ในสัปดาห์ของวันที่ 18 เกิดฝนตกอย่างหนักที่รัฐเกรละกับอุตตราขัณฑ์ และที่ประเทศเนปาล อันเป็นผลจากความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวในภาคเหนือของแดนภารตะ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง และดินถล่มหลายจุด
เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 201 ศพ โดย 104 ศพในจำนวนนี้อยู่ที่เนปาล และ 70 ศพอยู่ที่รัฐอุตตราขัณฑ์
...
5. น้ำท่วมใหญ่ยุโรป
ในช่วงเดือนกรกฎาคม หลายประเทศในยุโรปเผชิญน้ำท่วมรุนแรง เริ่มต้นที่สหราชอาณาจักร สร้างความเสียหายจำนวนหนึ่ง ก่อนที่น้ำท่วมจะเริ่มส่งผลกระทบแม่น้ำสายต่างๆ ในยุโรป ทั้งในออสเตรีย, เบลเยียม, โครเอเชีย, เยอรมนี, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์
น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 242 ศพ โดยเยอรมนีมีผู้เคราะห์ร้ายมากที่สุด 196 ราย ตามด้วยเบลเยียม 42 ราย โดยหลายเขตของเยอรมนีเผชิญฝนตกหนักที่สุดในรอบกว่า 100 ปี หรืออาจจะมากกว่า 1,000 ปี รวมความเสียหายทั้งหมดมากกว่า 11.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
...
4. ไซโคลนเซโรจา ถล่ม 3 ประเทศ
ไซโคลนเซโรจา ก่อตัวขึ้นในทะเลเซวู เมื่อ 3 เม.ย. ก่อนจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งในภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย และเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศติมอร์ตะวันออก ทำให้เกิดลมกระโชกแรง, ฝนตกหนัก และน้ำท่วมฉับพลัน ก่อนที่มันจะไปดูดกลืนไซโคลนอีกลูกที่อ่อนกำลังลง ทำให้มันเปลี่ยนทิศทางมุ่งขึ้นฝั่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ของออสเตรเลีย ในวันที่ 11 เม.ย.
พายุลูกนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 272 ศพ โดย 183 ศพอยู่ในอินโดนีเซีย, 42 ศพอยู่ในติมอร์เลสเต และอีก 1 ศพที่ออสเตรเลีย ยังมีผู้สูญหายจนถึงตอนนี้กว่า 100 คน บ้านเรือนในจังหวัดนูซาเตงการาตะวันออก ของอินโดนีเซีย เสียหายมากกว่า 20,000 หลัง ขณะที่ติมอร์ มีบ้านถูกน้ำท่วมนับหมื่นหลัง ส่วนที่ออสเตรเลีย อาคารกว่า 70% ของเมือง คัลบาร์รี และเมืองนอร์ทแธมตัน ถูกทำลาย รวมความเสียหายกว่า 490.7 ล้านดอลลาร์
3. ฝนพันปี น้ำท่วมใหญ่จีน
มณฑลเหอหนานของจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุน้ำท่วมตลอดเดือนกรกฎาคม เป็นผลจากฝนที่ตกต่อเนื่องยาวนาน จนคาดว่าเป็นฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี ทำให้ต้องอพยพประชาชนกว่า 815,000 แสนคน พบผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 302 ศพ เกือบทั้งหมดอยู่ที่เมืองเจิ้งโจว และยังมีผู้สูญหายอีก 50 ราย
สำหรับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ มีการประเมินไว้ที่ราว 8.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่มีการเปิดเผยแน่ชัดว่ามีอาคารบ้านเรือนเสียหายกี่หลัง แต่บริษัทประกันในจีนเผยว่า ที่เมืองเจิ้งโจวมีรถยนต์เสียหายเพราะน้ำท่วมมากกว่า 400,000 คน และมีการเรียกเคลมประกันมูลค่าถึง 6.4 พันล้านหยวน
2. ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น ราอี ถล่มฟิลิปปินส์
ไต้ฝุ่นราอี เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ บริเวณเกาะเซียร์เกา ในวันที่ 16 ธ.ค. ในฐานะพายุระดับ 5 ก่อนจะเคลื่อนตัวผ่านเกาะ บีซายาส ลงทะเลซูลู ก่อนจะขึ้นฝั่งอีกครั้งที่ เกาะปาลาวัน ทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรก ในทุกพื้นที่ที่มันเคลื่อนตัวผ่าน จากนั้นจึงสลายตัวไปในวันที่ 22 ธ.ค.
พายุลูกนี้ทำให้ประชาชนกว่า 100,000 คนต้องอพยพขึ้นที่สูง หลายพื้นที่บนเกาะบีซายาสและเกาะมินดาเนา ประสบปัญหาไฟฟ้าดับ อาคารบ้านเรือนเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะที่จังหวัดโบโฮล รวมมูลค่าทั้งหมดกว่า 794.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และพบผู้เสียชีวิตจนถึงตอนนี้ที่ 408 ศพ อีก 83 คนยังสูญหาย
1. แผ่นดินไหวเฮติ
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 แมกนิจูด เขย่าแหลมทิบูรอน ทางตอนใต้ของประเทศเฮติ จุดศูนย์กลางมีความลึกเพียง 10 กม. ห่างจากเมืองหลวงกรุง ปอร์โตแปรงซ์ ราว 150 กม. ทำให้อาคารบ้านเรือนกว่า 137,500 หลังถูกทำลายหรือได้รับความเสียหาย มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2,248 ศพ บาดเจ็บมากก่า 12,200 ราย และคนอีกราว 650,000 คน ต้องการความช่วยเหลือ
เหตุการณ์นี้ถือเป็นแผ่นดินไหว และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในปี 2564 และยังเป็นหายนะครั้งเลวร้ายที่สุดของเฮติ นับตั้งแต่แผ่นดินไหวเมื่อปี 2553 มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 10% ของจีดีพีของเฮติ ทั้งยังเกิดขึ้นเพียงเดือนเดียวหลังเหตุลอบสังหารประธานาธิบดีโมอิสด้วย
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : usnews, abcnews, cnn