ภาพรอยเท้าบนดวงจันทร์ของนักบินอวกาศจากโครงการอพอลโล คือหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์ที่เป็นอมตะ พื้นผิวอันขรุขระและเต็มไปด้วยฝุ่นบนดวงจันทร์เกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยและสภาพแวดล้อมรุนแรงของอวกาศที่กัดกร่อนหินดวงจันทร์มาเป็นเวลาหลายล้านปี และจริงๆแล้วดวงจันทร์มีการปะทุของภูเขาไฟตลอดมาในประวัติศาสตร์ ทำให้หินลาวาทับถมบนพื้นผิว จนเมื่อเวลาผ่านไปหินแตกตัวเป็นฝุ่นและดินเรียกว่า เรโกลิธ (regolith)

ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย ในสหรัฐอเมริกา รายงานว่าชั้นของวัสดุโบราณที่ฝังอยู่ใต้พื้นผิวดวงจันทร์สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับอดีตอันลึกล้ำของบริวารของโลกได้ ด้วยการใช้วิธีประมวลผลข้อมูลอย่างระมัดระวังจากข้อมูลที่รวบรวมโดยภารกิจยานอวกาศฉางเอ๋อ 3 (Chang’e 3) ของจีนในปี พ.ศ.2556 ซึ่งได้วัดเรดาร์ภาค พื้นดินโดยตรงครั้งแรกบนดวงจันทร์ ทำให้พบหลักฐานใหม่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับชั้นวัสดุโบราณที่เรียกพาเลโอเรโกลิธ (Paleoregolith) คือชั้นหินดึกดำบรรพ์หนาประมาณ 4.9-9.1 เมตร อยู่คั่นกลางระหว่างหินลาวา 2 ชั้นที่เชื่อกันว่ามีอายุ 2,300-3,600 ล้านปี

การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าวัสดุของชั้นผิวดินพาเลโอเรโกลิธนั้นก่อตัวเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินไว้จากครั้งก่อนมาก โดยพบว่าอยู่ที่เกือบ 2 เมตรต่อพันล้านปี.