อังกฤษเผยผลการวิจัยเรื่องการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ พบการฉีดวัคซีนผสมกันหลายยี่ห้อ จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้รับได้ดียิ่งขึ้น


ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในประเทศอังกฤษ ที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ทเมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นระบุว่า จากการทดลองฉีดวัคซีนในกลุ่มอาสาสมัคร 1,070 คน พบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สูตรไขว้ โดยโดสแรกเป็นวัคซีนของแอสตราเซเนกาหรือไฟเซอร์และโดสสองเป็นวัคซีนของโมเดอร์นา จะทำให้มีการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันโรคได้ดียิ่งขึ้น โดยจะต้องฉีดห่างกันเป็นเวลา 9 สัปดาห์ จะทำให้ระดับแอนติบอดีและการตอบสนองของที-เซลล์ ที่ทำหน้าที่กำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อ มีจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกาสองโดส ขณะที่การฉีดวัคซีนของไฟเซอร์เป็นเข็มแรกและฉีดวัคซีนของโมเดอร์นาเป็นเข็มสองทำให้มีประสิทธิภาพด้านภูมิต้านทานดีกว่าการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์สองโดสเช่นกัน ส่วนการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์เป็นเข็มแรกและฉีดวัคซีนของโนวาแวกซ์เป็นเข็มสอง จะทำให้ระดับแอนติบอดีเพิ่มขึ้นมากกว่าการได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกาสองโดส แต่มีการตอบสนองของที-เซลล์และแอนติบอดีน้อยกว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สองโดส

...

ศาสตราจารย์ แมทธิว สเนป แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่เป็นหัวหน้าทีมทำการทดลองในเรื่องนี้ระบุว่า ผลการทดลองพบว่าการฉีดวัคซีนสูตรไขว้แบบนี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาทั้งสองโดส ซึ่งข้อมูลจากผลการวิจัยในครั้งนี้ จะมีประโยชน์ต่อประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเดินหน้าฉีดวัคซีนกันอยู่ และอาจจะจำเป็นต้องฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อกัน เนื่องจากมีวัคซีนไม่เพียงพอหรือยังไม่มีวัคซีนสำรองในจำนวนที่แน่นอน ซึ่งจะทำให้สามารถฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยนี้ไม่ได้ระบุถึงข้อกังวลด้านความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีนสูตรไขว้แต่อย่างใด

ปัจจุบันนี้มีหลายประเทศที่ใช้การฉีดวัคซีนสูตรไขว้อยู่แล้วก่อนที่จะมีผลวิจัยออกมายืนยันถึงประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาวัคซีนที่ยังคงมีไม่เพียงพอ ท่ามกลางการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อเดลตา รวมทั้งเชื้อโอมิครอนที่กำลังรุกหนักในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม เรื่องของระยะเวลาของประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละยี่ห้อยังคงไม่มีผลวิจัยออกมาระบุอย่างชัดเจน ว่าวัคซีนแต่ละตัวจะมีประสิทธิภาพครอบคลุมเป็นเวลานานเท่าใด โดยเฉพาะเมื่อต้องรับมือกับสายพันธุ์ที่กำลังกลายพันธุ์เพิ่มเติมอยู่ในเวลานี้.