คำว่า “ไม้กางเขน” (Cross) เป็นคำเก่ากว่าสามสี่พันปี พบครั้งแรกในจารึกอักษรเฮียโรกราฟฟิกของอียิปต์โบราณ รู้จักกันในชื่อว่า อังก์ (Ankh) ด้านบนเป็นทรงกลม ด้านล่างเป็นกางเขน คล้ายไม้กางเขนชาวคริสต์ (มหัศจรรย์ สัญลักษณ์ เครื่องรางและเคล็ดนำโชค โดย Alys R Yablon ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล แปล)
นี่คือสัญลักษณ์อียิปต์โบราณ แสดงถึงความเป็นอมตะนิรันดร และเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิต
อังก์ เป็นรูปทรงอันสมบูรณ์ ระหว่างเพศชายและเพศหญิง (คล้าย ศิวลึงค์ โยนี ของฮินดู)
ในวัฒนธรรมของกรีกโบราณ อักษรกรีกตัวที่ 19 คือเทา (tau) ก็เป็นรูปลักษณะของไม้กางเขนเช่นเดียวกัน
ต่อมาในสมัยพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 ซึ่งครองราชย์ระหว่าง ค.ศ.280-237 ทรงเป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์แรกที่ประกาศตนเป็นคริสต์ศาสนิกชน และทรงใช้ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์แห่งพระคริสต์ศาสนา
ยังมีความเชื่อถือในวัฒนธรรมที่แตกต่าง
ไม้กางเขน ที่เรียกว่าฮุคครอส (Hookhed cross) หรือกางเขนรูปตะขอ ก็คือเครื่องหมายสวัสติกะ บางครั้งมีผู้เรียกว่าแกมม่า หลายๆคนมักเข้าใจว่า เป็นสัญลักษณ์ของนาซีเยอรมัน
แต่ความจริงใช้กันมาก่อนยาวนานนับพันปี ทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก
สวัสติกะ มีความหมายถึง ความโชคดี มีความเกี่ยวข้องกันทั้งศาสนาฮินดู พุทธ เชน สัมพันธ์กับวัฒนธรรมอินเดียและจีน ทั้งปรากฏในประวัติศาสตร์ของกรีก โรมัน
ชาวตะวันตกยุคใหม่ ถือว่าสวัสติกะ คือสัญลักษณ์ของรูปตัวแอล (L) ไขว้สลับกัน 4 ตัว แทนความหมายของแอลทั้ง 4 Luck (โชคดี) Light (แสงสว่าง) Life (ชีวิต) และ Love (รัก)
รูปแบบการรวมกันของ L สี่ตัว ในงานออกแบบสมัยใหม่ นิยมทำสัญลักษณ์ในการ์ดอวยพร และของขวัญ
สำหรับชาวคริสต์ สัญลักษณ์ไม้กางเขน มีส่วนสำคัญสูงสุดในพิธีกรรมในโบสถ์ของชาวคาทอลิก การมองเห็นไม้กางเขน เปรียบประหนึ่งการเตือนให้รำลึกถึงพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษย์
...
ชาวคริสต์มักประดับไม้กางเขนเป็นสิ่งเคารพบูชาประจำบ้าน นิยมไว้บนหัวเตียงเพื่อปกป้องคุ้มครอง เชื่อกันว่า ไม้กางเขนแฝงไว้ด้วยพลังแห่งการฟื้นฟูชีวิต และมีอำนาจในการขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายนานา
ตอนหนึ่งในหนังสือ เกร็ดโบราณคดี ประวัติศาสตร์ไทย ส.พลายน้อย เล่าถึง พระเจ้านิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย ว่า เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ได้เคยกลืนกางเขนทองเข้าไป
ไม้กางเขนทองนี้ ได้รับเมื่อวันทำพิธีแบบติสม์ หรือศีลล้างบาป
ตามปกติแล้ว พระเจ้านิโคลาสที่ 2 ทรงมีพระธำมงรงค์ฝังเศษชิ้นไม้กางเขน (ที่ได้มาจากอันที่พระเยซูถูกตรึง) สวมอยู่เป็นประจำ ถือกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟรุ่งเรือง
ว่ากันว่าพระอัยกา พระเจ้านิโคลาสที่ 2 ก็เคยรอดอันตรายด้วยพระธำมรงค์วงนี้
เมื่อเกิดกบฏบอลเชวิค (ในชั้นแรก บอลเชวิค หมายถึงสมาชิกแห่งพรรคสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมีเสียงข้างมากสนับสนุนให้ชนกรรมาชีพใช้กำลังยึดอำนาจ นับจาก พ.ศ.2461 เป็นต้นมา หมายถึงสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์)
การเมืองพลิกผัน พระเจ้านิโคลาสที่ 2 ถูกจับไปคุมขัง จนถึงวันที่ถูกประหารชีวิต 16 ก.ค. พ.ศ.2461 พระชนมายุ 50 พรรษา นับวันเป็นวันสูญสิ้นราชวงศ์ มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า ทรงลืมสวมพระธำมรงค์วงนั้น.
กิเลน ประลองเชิง