การประชุม COP26 วันสุดท้าย นานาชาติบรรลุข้อตกลงแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ โดยกำหนดแผนลดการใช้ถ่านหินอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า เกือบ 200 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาประเทศภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโก เมื่อวันเสาร์ที่ 13 พ.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม บรรลุข้อตกลงระดับโลกฉบับใหม่ ที่กำหนดแผนอย่างชัดเจนเพื่อลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื่อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นครั้งแรก
ข้อตกลงดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วมากขึ้น และสัญญาจะมอบเงินช่วยเหลือแก่ชาติกำลังพัฒนามากขึ้น เพื่อช่วยพวกเขาในการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อย่างไรก็ตาม คำมั่นดังกล่าวไปไม่ถึงการจำกัดอุณหภูมิพื้นผิวโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส อันเป็นเป้าหมายที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าต้องควบคุม เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากภาวะโลกร้อน
...
ข้อตกลงฉบับนี้ยังมีข้อแตกต่างจากฉบับร่าง โดยในตอนแรกนานาชาติให้คำมั่นว่า จะทยอยเลิกใช้ถ่านหินไปตามลำดับ แต่ถูกอินเดียคัดค้าน โดยนายภูเปนเดอร์ ยาดาฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดีย ตั้งคำถามในที่ประชุมว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะสัญญาเลิกใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลไปตามลำดับได้อย่างไร ในเมืองพวกเขายังต้องมีการพัฒนาต่างๆ และกำจัดความยากจนอีก
ในท้ายที่สุด นานาชาติก็ตกลงยอมถอยจากการสัญญาณว่า จะ “หยุด” ใช้ถ่านหิน เป็นจะ “ลด” ใช้ถ่านหินแทน แม้ว่าหลายประเทศจะแสดงความไม่เห็นด้วยก็ตาม โดยนายอาโล็ค ชาร์มา ส.ส.สหราชอาณาจักรและประธานการประชุม COP26 กล่าวว่า เขาเสียใจมากที่เหตุการณ์เป็นไปแบบนี้ แต่ก็ต้องทำ เพื่อปกป้องข้อตกลงทั้งหมดเอาไว้
นอกจากนั้น ภายใต้ข้อตกลงฉบับล่าสุด นานาชาติยังให้คำมั่นว่าจะมาประชุมร่วมกันอีกในปีหน้า เพื่อร่วมปฏิญาณเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มอีก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เนื่องจากคำมั่นในปัจจุบัน หากทำได้ พวกเขาจะสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ได้ที่ 2.4 องศาเซลเซียสเท่านั้น