กองทัพซูดานก่อรัฐประหาร ยุบรัฐบาลและจับกุมตัวนายกรัฐมนตรีกับเจ้าหน้าที่อีกหลายคน ขณะที่ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพ

สำนักข่าว เอ็นบีซีนิวส์ รายงานว่า กองทัพของประเทศซูดานก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันจันทร์ที่ 25 ต.ค. 2564 สั่งยุบรัฐบาลเปลี่ยนผ่านเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากจับกุมนายกรัฐมนตรีรักษาการ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลคนอื่นๆ ขณะที่ประชาชนหลายพันคนออกมาเดินขบวนตามท้องถนน เพื่อประท้วงต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้

นายกรัฐฒนตรี อับดัลลา ฮัมด็อค
นายกรัฐฒนตรี อับดัลลา ฮัมด็อค

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในซูดานเกิดขึ้น 2 ปีหลังจากประชาชนแสดงพลังขับไล่ผู้นำเผด็จการ โอมาร์ อัล-บาเชียร์ และเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่กองทัพจะต้องส่งมอบอำนาจปกครองของสภากองทัพให้แก่พลเรือน

...

หลังจากกองทัพจับกุมตัวนายกรัฐฒนตรี อับดัลลา ฮัมด็อค และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ เมื่อช่วงเช้ามืดวันจันทร์ ประชาชนหลายพันคนก็ออกมารวมตัวประท้วงตามท้องถนนในกรุงคาทูม และเมืองคู่แฝดอย่างเมือง ออมเดอร์มาน ปิดกั้นถนน, จุดไฟเผายาง พร้อมตะโกนข้อความว่า “ประชาชนแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ” และ “ไม่มีคำว่าถอย” ในขณะที่กองกำลังความมั่นคงพยายามใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม

คณะกรรมการแพทย์ซูดานเปิดเผยว่า จนถึงตอนนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บระหว่างการประท้วงแล้วอย่างน้อย 12 ราย แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม

พลเอก อับเดล-ฟัตตอห์ เบอร์ฮาน
พลเอก อับเดล-ฟัตตอห์ เบอร์ฮาน

ต่อมาในช่วงบ่าย พลเอก อับเดล-ฟัตตอห์ เบอร์ฮาน ผู้นำกองทัพซูดาน ประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติว่า เขากำลังยุบรัฐบาลเปลี่ยนผ่านและสภาปกครองสูงสุด (Sovereign Council) ซึ่งเป็นสภาร่วมระหว่างทหารกับพลเรือน ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อบริหารประเทศหลังจากนาย อัล-บาเชียร์ ถูกโค่นอำนาจ

นายพลเบอร์ฮานอ้างว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองคือเหตุผลที่ทำให้กองทัพตัดสินใจเข้าแทรกแซง เขายังประกาศภาวะฉุกเฉินและว่า กองทัพจะจัดตั้งรัฐบาลโดยกลุ่มนักวิชาการ (technocratic government) เพื่อนำพาประเทศไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคม 2566 แต่เขาบอกอย่างชัดเจนด้วยว่า กองทัพจะยังคงครองอำนาจต่อไป

“กองทัพจะสานต่อการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ จนกว่าจะมีการส่งมอบตำแหน่งผู้นำประเทศให้แก่พลเรือน และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” นายเบอร์ฮานกล่าว และเสริมด้วยว่า จะมีการร่างรัฐธรรมนูญของซูดานขึ้นใหม่ ขณะที่สภานิติบัญญัติจะจัดตั้งโดยมีคนหนุ่มสาวที่ทำให้เกิดการปฏิวัตินี้ขึ้น เข้าร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสารสนเทศซึ่งยังคงยึดมั่นในรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน ประณามคำพูดของนายพลเบอร์ฮานว่า เป็นการประกาศยึดอำนาจด้วยการก่อรัฐประหารของกองทัพ

ด้านประชาคมนานาชาติก็ออกมาแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นนาย เจฟฟรีย์ เฟลต์แมน ทูตพิเศษของสหรัฐฯ กล่าวสหรัฐฯ กังวลอย่างมากต่อข่าวเรื่องการรัฐประหาร ขณะที่นาย โจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ทวีตข้อความว่า เขากำลังติดตามสถานการณ์ด้วยความกังวลอย่างที่สุด ส่วนสหประชาชาติระบุว่า การจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

...