- สหรัฐอเมริกาเปิดประเทศในวันที่ 8 พ.ย. 64 ต้อนรับนักเดินทางต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดส หลังปิดพรมแดนมานานกว่าหนึ่งปี
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบินในประเทศต่างตอบรับกับข่าวดี พร้อมเดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ขณะที่สมาชิกครอบครัวสามารถเดินทางกลับมาพบหน้ากันได้อีกครั้ง
- แม้ว่าตัวเลขการแพร่ระบาดในประเทศยังสูง เฉลี่ยแตะ 85,000 รายต่อวัน ด้านนายแพทย์เฟาซี ชี้ว่า วัคซีนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สหรัฐฯ ควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลายประเทศทั่วโลกได้ทยอยเปิดประเทศหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มดีขึ้น ถึงคิวของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 พ.ย. 64 ต้อนรับนักเดินทางต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส ซึ่งข่าวดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากภาคการท่องเที่ยวและสายการบิน รวมถึงภาคธุรกิจ ที่หวังว่าการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งจะเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าเศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศฤกษ์เปิดประเทศ หลังจากที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักหน่วง จนเป็นประเทศที่มีตัวเลขผู้ป่วยมากที่สุดในโลก แตะ 45.7 ล้านราย ไม่เว้นอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด-19 เช่นกัน ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มากถึง 744,688 ศพ นั้นเป็นบาดแผลที่ย้ำเตือนถึงความน่ากลัวของโรคระบาดมรณะ แม้จะเดินหน้าเปิดประเทศสหรัฐฯ ยังคงมีตัวเลขผู้ป่วยเฉลี่ยอยู่ที่ 85,000 รายต่อวัน ซึ่งนับว่าลดลง 8,000 ราย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่สามารถคลายความกังวลว่าโรคโควิด-19 ที่เคยคร่าชีวิตผู้คนเป็นใบไม้ร่วงจะมีโอกาสกลับมาแพร่ระบาดครั้งใหญ่อีกหรือไม่
...
พร้อมเปิดประเทศต้อนรับนักเดินทางต่างชาติ
การเปิดประเทศในวันที่ 8 พ.ย. 64 นั้นเป็นการเปิดพรมแดนทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน โดยหน่วยงานสาธารณสุขสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้เดินทางจะต้องฉีดวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ และองค์การอนามัยโลก รวมถึงได้รับการตรวจโรคภายใน 3 วันก่อนออกเดินทาง ขณะที่สายการบินจะต้องมีมาตรการการติดตามสอบสวนโรคที่รัดกุม
ขณะนี้วัคซีนที่ได้รับรองสามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้แก่ แอสตราเซเนกา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, โมเดอร์นา, ไฟเซอร์, ซิโนฟาร์ม และซิโนแวค
ส่วนการเปิดพรมแดนภาคพื้นดิน ซึ่งได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านสหรัฐฯ อย่างแคนาดาและเม็กซิโก จะถูกแบ่งออกเป็น 2 เฟส ซึ่งในเฟสที่ 2 ที่จะเริ่มต้นในเดือน ม.ค. 65 จะบังคับให้ผู้เดินทางฉีดวัคซีนครบสองโดสหากต้องการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ผ่านพรมแดนภาคพื้นดิน ไม่ว่าจะเดินทางด้วยเหตุผลใดก็ตาม ขณะที่ นายสตาฟรอส แลมบรินิดิส เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำสหรัฐอเมริกา ระบุผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า การประกาศเปิดประเทศของสหรัฐอเมริกานั้นนับเป็นข่าวดีและมีความสำคัญ
ภาคการท่องเที่ยวและสายการบินตอบรับข่าวดี
สมาคมการท่องเที่ยวของอเมริกา ชี้ว่า การเปิดประเทศเปรียบเสมือนจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการบริหารจัดการโรคระบาด รวมถึงกระตุ้นการฟื้นตัวของการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวที่ได้ถูกระงับไปหลังจากที่มีการปิดพรมแดน ด้าน นายโรเจอร์ ดาว ประธานสมาคมการท่องเที่ยวได้ขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ได้วางแผนการเปิดประเทศจนทำให้สหรัฐฯ สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนทั่วโลกได้อีกครั้ง
ส่วนสมาคมบริษัทนำเที่ยวแห่งอเมริกา มองว่า แผนการเปิดประเทศในครั้งนี้สอดคล้องกับแผนการที่สมาคมฯ ได้มีการหารือก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน และการตรวจโรคตามมาตรฐาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ซึ่งเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ แคนาดา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ขณะที่สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก ระบุว่า การผ่อนปรนมาตรการเข้าประเทศที่ทำให้สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา สามารถเดินทางระหว่างกันได้อีกครั้งนั้น ไม่ได้ส่งผลดีเฉพาะกับสายการบินเท่านั้น แต่ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวในวงกว้าง
...
นอกจากนี้ยังเป็นผลดีต่อเมืองใหญ่เช่นนครนิวยอร์ก จุดหมายปลายทางของนักเดินทางทั่งโลก ที่ยังต้องพึ่งพานักเดินทางต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพบว่าในแต่ละปีมีผู้เดินทางชาวต่างชาติราว 20 เปอร์เซ็นต์เดินทางมายังนครแห่งนี้ และมีตัวเลขการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยว 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนักเดินทางต่างชาตินั้นใช้เวลาอยู่ในนครนิวยอร์กยาวนานกว่านักเดินทางในประเทศ รวมถึงมีการใช้จ่ายในปริมาณสูง
ตัวเลขการระบาดในประเทศยังสูง พึ่งวัคซีนยับยั้งการระบาดซ้ำ
แม้ว่าปัจจัยสำคัญในการเปิดประเทศของสหรัฐฯ คือตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ในสหรัฐฯ ยังนับว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ แม้ว่ายอดผู้ป่วยจะลดลงเฉลี่ย 8,000 รายต่อวัน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตนั้นลดลงเฉลี่ย 200 ศพต่อวัน หลายฝ่ายมองว่า ถึงตัวเลขจะลดลงต่อเนื่องทั้งยอดผู้ติดเชื้อและยอดตาย แต่จำนวนผู้ฉีดวัคซีนในประเทศที่ล่าช้านั้นเป็นสิ่งที่น่ากังวลและอาจกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้โรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง โดยสหรัฐฯ นั้นมียอดผู้ฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 57 เปอร์เซ็นต์
...
ด้าน นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่า แม้จะมีความเป็นไปได้ว่าโรคโควิด-19 อาจกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้ง แต่วิกฤติดังกล่าวสามารถป้องกันได้ พร้อมทั้งชี้ว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงนั้นขึ้นอยู่กับตัวเลขของผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน
ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตาที่เป็นตัวการทำให้หลายประเทศทั่วโลกมีตัวเลขผู้ป่วยพุ่งขึ้นอีกครั้ง ยังคงวางใจไม่ได้ โดย นายแพทย์สก็อตต์ กอตเลียบ ผู้อำนวยการองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในสหราชอาณาจักร ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีผลวิจัยชี้ชัดว่าไวรัสดังกล่าวนั้นมีอัตราการแพร่ระบาดมากกว่าเดิมหรือไม่ก็ตาม.
ผู้เขียน: นัฐชา กิจโมกข์
ที่มา: CNN, Travelpulse, CNA
...