รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2021 ตกเป็นของ 3 นักวิทยาศาสตร์ชาว ญี่ปุ่น, เยอรมนี และอิตาลี จากผลงานสร้างโมเดลทำนายภาวะโลกร้อนได้อย่างแม่นยำ
สำนักข่าว เจแปนทูเดย์ รายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ 5 ต.ค. 2564 ดร.ซิวคุโระ มานาเบะ วัย 90 ปี, ดร.เคลาส์ ฮาสเซิลมันน์ วัย 89 ปี และ ดร.จอร์โจ ปาริซี วัย 73 ปี ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2021 ไปครอง จากผลงานตลอด 60 ปีในการวางโมเดลทำนายภาวะโลกร้อน และการถอดรหัสทางฟิสิกส์อันซับซ้อน
รางวัลถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนโดย ครึ่งแรกถูกยกให้แก่ ดร.มานาเบะ กับ ดร.ฮาสเซิลมันน์ ได้รับการยกย่องจากผลงานของพวกเขาในการวางโมเดลทางฟิสิกส์ของภูมิอากาศโลก สำหรับทำนายภาวะโลกร้อน ส่วนอีกครั้งเป็นรางวัลสำหรับ ดร.ปาริซี จากการค้นพบผลกระทบซึ่งกันและกันระหว่าง ความผิดปกติและความผันแปรในระบบฟิสิกส์ ตั้งแต่ระดับอะตอมไปจนถึงระดับดาวเคราะห์
คณะกรรมการโนเบลระบุว่า ดร.มานาเบะกับ ดร.ฮาสเซิลมันน์ เป็นผู้วางรากฐานความรู้ของเราในเรื่องภูมิอากาศของโลก และอิทธิพลของมนุษย์ที่ส่งผลต่อภูมิอากาศ โดยตั้งแต่ยุคปี 1960 ดร.มานาเบะ แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เป็นการวางรากฐานโมเดลภูมิอากาศในปัจจุบัน
10 ปีต่อมา ดร.ฮาสเซิลมันน์ สร้างโมเดลที่เชื่อมโยงระหว่างภูมิอากาศ (climate) และสภาพอากาศ (weather) ช่วยอธิบายว่าทำไม โมเดลภูมิอากาศเป็นสิ่งที่พึ่งพาได้ แม้สภาพอากาศที่ปรากฏให้เห็นจะมีความซับซ้อนยุ่งเหยิง เขายังค้นพบวิธีค้นหาสัญญาณอย่างเฉพาะเจาะจง ถึงอิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อภูมิอากาศด้วย
...
ด้าน ดร.ปาริซี สร้างโมเดลทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่มีความลึกซึ้ง ทำให้เป็นไปได้ที่จะทำความเข้าใจระบบอันซับซ้อนในวงการที่แตกต่างกันมากอย่าง คณิตศาสตร์, ชีววิทยา, ประสาทวิทยา และการเรียนรู้ด้วยตนเองของคอมพิวเตอร์ (machine learning)