อนาคตหุ่นยนต์โต้ตอบทางสังคมจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้าน ในสถานพยาบาล หรือในศูนย์ดูแลผู้สูงวัยในระยะยาว ให้พวกเขาทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้
แต่คำถามหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ มนุษย์จะยอมรับคำแนะนำหรือฟังคำสั่งจากหุ่นยนต์จริงหรือ? เช่นงานง่ายๆ อย่างขอให้ใครสักคนกินยา ก็ยังมีความลึกซึ้งในแง่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ หากต้องการนำหุ่นยนต์เข้าสู่สถานการณ์เหล่านั้น จำเป็นต้องเข้าใจจิตวิทยาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์มากขึ้น
เรื่องนี้ เชน ซอนเดอร์สัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ในแคนาดา หยิบเอาไปวิจัยและเผยแพร่ลงในวารสารไซเอนส์ โรโบติกส์ โดยชี้ให้เห็นว่าคำตอบนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของหุ่นยนต์ ซอนเดอร์สันได้ทดสอบโดยใช้แนวคิดหลักคือ “อำนาจ” ซึ่งเขาได้แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ อำนาจตามแบบแผนหรือแบบทางการ และอำนาจในการควบคุมการตัดสินใจ จากนั้นก็ทดลองโดยใช้ หุ่นยนต์ฮิวแมนอยด์ เปปเปอร์ กับอาสาสมัคร 32 คน ให้ทำภารกิจง่ายๆ เช่น การท่องจำ และเรียกสิ่งของต่างๆ ตามลำดับ
หุ่นยนต์เปปเปอร์ จะถูกนำเสนอในฐานะผู้มีอำนาจแบบทางการกับอาสาสมัครบางคน โดยจะช่วยเหลือให้อาสาสมัครคนทำงานเสร็จ และสำหรับอาสาสมัครบางคน หุ่นยนต์เปปเปอร์ก็จะถูกนำเสนอในฐานะผู้มีอำนาจในการควบคุมการตัดสินใจ ซึ่งก็จะมีการจำลองอำนาจทั้งเชิงบวกและเชิงลบ
นักวิจัยพบว่าโดยทั่วไปแล้วหุ่นยนต์เปปเปอร์จะโน้มน้าวใจได้มากกว่าเมื่อถูกนำเสนอในฐานะผู้ช่วยเหลือเพื่อน และจะโน้มน้าวใจน้อยกว่าเมื่อถูกนำเสนอในฐานะผู้มีอำนาจในการควบคุมการตัดสินใจ นอก จากนี้ ยังพบว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้คนอาจไม่เชื่อฟังหุ่นยนต์เพราะพวกเขารู้สึกว่าถูกคุกคาม และยังสังเกตพบว่ามีความไม่พอใจก่อตัวขึ้นเมื่อรู้สึกว่าการชักของหุ่นยนต์มีความเผด็จการ โดยความไม่พอใจจะรุนแรงเป็นพิเศษในหมู่อาสาสมัครชาย
...
การวิจัยนี้อาจดูแปลกใหม่ก็จริง แต่ก็ช่วยขยายมุมมองถึงพฤติกรรมทางสังคมของหุ่นยนต์ โดยเฉพาะการเข้าใจถึงวิธีที่หุ่นยนต์โน้มน้าวใจ สิ่งนี้ควรได้รับการพัฒนาเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ที่ต้องช่วยเหลือกลุ่มประชากรต่างๆ เช่น กลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ
เรื่องนี้จำเป็นอย่างมากสำหรับนักออกแบบหุ่นยนต์ทางสังคม ในเรื่องการวางตำแหน่งของหุ่นยนต์ให้ทำงานร่วมกันและมุ่งเน้นความเป็นเพื่อนฝูง มากกว่าที่จะให้หุ่นยนต์มีอำนาจเหนือกว่า.
ภัค เศารยะ