• ชาติตะวันตกตื่นตระหนกเมื่อเทศกาลคริสต์มาสปีนี้อาจต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหารบางประเภท ชั้นวางในซุปเปอร์มาร์เก็ตอาจไม่เต็มไปด้วยสินค้าในเทศกาลอย่างที่เคย ซึ่งการแพร่ระบาดนั้นเรื้อรังนานถึงสองปี ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่สามารถเปิดพรมแดนได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลกระทบให้สินค้าไม่สามารถถูกขนส่งได้
  • แม้โรงงานการผลิตจะเดินสายพานเต็มกำลัง แต่หากไร้การจัดการการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพสินค้าก็ไม่สามารถเติมเต็มส่วนที่ขาดแคลนได้ ส่วนโลจิสติกส์โลกยังเผชิญกับการผูกขาดจากบริษัทใหญ่
  • ดีมานด์ทั่วโลกพุ่งหลังโควิดระบาด ผู้บริโภคกดซื้อของออนไลน์ไม่ยั้ง ชนชั้นแรงงานแห่ใช้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ในขณะที่การขนส่งไม่พร้อมรับมือกับรายการสั่งซื้อที่ถาโถม

เมื่อสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศดูเหมือนกำลังจะไปได้สวย โครงการฉีดวัคซีนเดินหน้า มีแผนการเดินหน้าเปิดประเทศ ส่วนตลาดหุ้นกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง แต่การใช้ชีวิตหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อการขนส่งทั่วโลกได้หยุดชะงัก แม้จะยังคงมีสินค้าค้างสต๊อก แต่เมื่อกระจายสินค้าไม่ได้ส่งผลให้เกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำมันและอาหารทั่วโลก สัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏภาพของประชาชนกรุงลอนดอน ที่ต่อแถวยาวเหยียดหน้าปั๊มน้ำมันเพื่อรอคิวเติมน้ำมัน หลังอังกฤษต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำมัน ถึงแม้ว่าทางการจะยืนยันว่ามีน้ำมันเพียงพอไม่ได้ขาดแคลนแต่อย่างใด แต่นั่นไม่ได้ทำให้ชาวลอนดอนวิตกกังวลน้อยลง จนถึงขนาดมีรายงานเกิดการทะเลาะวิวาทกันเพื่อแย่งเติมน้ำมันด้วย

...

นอกจากนี้หลายประเทศก็อดตื่นตระหนกไม่ได้เมื่อส่อแววว่าเทศกาลคริสต์มาสปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรุงลอนดอนของอังกฤษ ไปจนถึงนครลอสแอนเจลิส ของสหรัฐอเมริกา อาจขาดแคลนอาหารและสินค้าหลายชนิด และอาจไม่มีของขวัญวางใต้ต้นคริสต์มาสเหมือนอย่างเคย จากปัญหาห่วงโซ่อุปทานหรือ ซัพพลายเชนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากปัญหาการขนส่ง รวมไปถึงความต้องการของผู้บริโภคที่พุ่งสูงในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งประเทศที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุดหนีไม่พ้นอังกฤษที่ต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหารบางประเภทโดยเฉพาะเนื้อสัตว์และอาหารสด ขณะที่วิกฤติน้ำมันอาจยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปี จนทำให้ต้องมีการออกวีซ่าฉุกเฉินเพื่อจ้างงานคนขับรถส่งน้ำมัน ส่วนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ซ้ำเติมทำให้การขนส่งเป็นอัมพาต 

ปัจจัยถาโถม โลจิสติกส์โลกส่อแววไปไม่รอด

ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขนส่งโลก เมื่อการขนส่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ราคาค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลพุ่งขึ้นมากถึง 460 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สวนทางกับดีมานด์ของผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้า ได้อย่างสะดวกสบาย เช่นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ขณะเดียวกันชนชั้นแรงงานในหลายประเทศได้แห่ใช้เงินช่วยเหลือที่ได้จากรัฐบาลในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ยอดการสั่งซื้อสินค้าพุ่งสูงขึ้นไปอีก ซึ่งนี่เปรียบเสมือนกับจุดเริ่มต้นของโดมิโน ที่ทำให้ระบบโลจิสติกส์โลกล้มครืน ดีมานด์ที่สูงขึ้นได้กดดันการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งลำพังก็มีเรือและพนักงานบนเรือไม่พออยู่แล้ว ส่วนการผลิตรถบรรทุกขนส่งสินค้าก็เป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้มีรถบรรทุกไม่เพียงพอที่จะกระจายสินค้า

ถึงแม้ว่าโรงงานในประเทศจีนจะกลับมาเริ่มเดินหน้าสายพานการผลิตอย่างเต็มกำลัง แต่สินค้านั้นจะไม่สามารถถูกกระจายไปยังประเทศต่างๆ ได้เลยหากขาดการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ระบบโลจิสติกส์ ยังติดปัญหาการผูกขาด โดยพบว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดการขนส่ง 80 เปอร์เซ็นต์ นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านการผูกขาดของรัฐบาลสหรัฐฯภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ได้พยายามลดราคาค่าขนส่งลง แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ต้องใช้เวลาและไม่สามารถแก้ปัญหาโลจิสติกส์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ได้

ส่วนราคาอาหารนั้นไปปรับตัวขึ้นตามไปด้วย โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา คาดว่าราคาอาหารที่บริโภคในครัวเรือนจะพุ่งสูงขึ้น 2.5 ถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และยังมีแนวโน้มว่าดีมานด์อาหารอาจลดลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถสู้ราคาที่พุ่งสูงได้ ขณะที่การช่วยเหลือของรัฐบาลเริ่มลดลงหลังการแพร่ระบาดของโควิด

อังกฤษน้ำมันขาดแคลน

ส่วนการที่อังกฤษประสบกับปัญหาน้ำมันไม่เพียงพอนั้นเกิดจากหลายปัจจัย บางส่วนระบุว่าต้นเหตุคือการที่สหราชอาณาจักรออกจาก สหภาพยุโรปหรือ เบร็กซิต ซึ่งส่งผลให้แรงงานภาคการขนส่งโดยเฉพาะคนขับรถบรรทุกส่งน้ำมัน ซึ่งเป็นชาวยุโรปที่เขามาทำงานในอังกฤษต้องเดินทางออกจากประเทศ เนื่องจากกฎการจ้างงานที่เข้มงวด จนส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันเป็นวงกว้าง ขณะที่ทางการอังกฤษได้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยการออกวีซ่าฉุกเฉินให้แก่พนักงานขับรถบรรทุก นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมอังกฤษยังเตรียมระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อเข้าสมทบช่วยเหลือภาคการขนส่งด้วย

...

ส่วนอีกปัจจัยหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การขนส่งเป็นอัมพาต โดยการที่การแพร่ระบาดนั้นเรื้อรังนานถึงสองปี ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่สามารถเปิดพรมแดนได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลกระทบให้สินค้าไม่สามารถถูกขนส่งได้

นอกจากปัญหาน้ำมันไม่เพียงพอแล้ว ปัญหาการขาดแคลนอาหารก็กำลังเข้าขั้นวิกฤติ เมื่อซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในอังกฤษอาหารบางประเภทเกลี้ยงชั้นวาง ซึ่งส่วนสำคัญของห่วงโซ่อาหารโลกคือแรงงานภาคการประมง ด้าน สตีเฟน คอตตอน เลขาธิการทั่วไปของสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ ระบุว่า "ห่วงโซ่อุปทานโลกนั้นมีความเปราะบาง และพึ่งพาชาวเรือเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับที่การขนส่งต้องพึ่งพารถบรรทุก...และถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับแรงงานกลุ่มนี้"

...

ในจดหมายเปิดผนึกถึงสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ของสภาหอการค้าขนส่งทางเรือ ได้เตือนให้เฝ้าระวังภาคการขนส่งของโลกล่มสลาย หากรัฐบาลไม่คืนอิสรภาพให้แก่ภาคการขนส่ง และให้ความสำคัญต่อแรงงานซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มออกจากงานมากขึ้นซึ่งเป็นผลจากการไม่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐและค่าแรงที่ไม่คุ้มค่าเหนื่อยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาวิกฤติการขนส่งซึ่งส่อแววเลวร้ายลงในช่วงสิ้นปีนี้

ผู้เขียน: นัฐชา กิจโมกข์

ที่มา: Dailymail, Forbes, Guardian, CNN