- โครงการคืนชีพแมมมอธขนยาว สัตว์ดึกดำบรรพ์ มีความคืบหน้ามากขึ้น เมื่อศ.จอร์จ เชิร์ช จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ออกมาแถลงข่าวความฝันใกล้เป็นจริง คาดอาจได้เห็นลูกอ่อนช้างแมมมอธไฮบริด ใน 4-6 ปีข้างหน้า
- ชูเป้าหมายของโครงการชุบชีวิตแมมมอธลูกผสมกับช้างเอเชีย เพื่อหวังฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาในเขตทุนดรา อาร์กติก แถบขั้วโลกเหนือและป้องกันไม่ให้ช้างเอเชียสูญพันธุ์
- นักวิทยาศาสตร์ต่างชาติบางส่วน 'คิดต่าง' สมควรจะทำหรือไม่-แย้งในประเด็นด้านจริยธรรม และคิดว่าการป้องกันไม่ให้สัตว์สูญพันธุ์ดีกว่าการชุบชีวิตสัตว์ดึกดำบรรพ์ฟื้นคืนชีพขึ้นมา
โครงการชุบชีวิตแมมมอธขนยาว หรือแมมมอธขนดก (Woolly mammoth) ฝูงสุดท้ายที่สูญพันธุ์ไปจากโลกเมื่อ 4,000 ปีก่อน โดยทีมนักพันธุศาสตร์ นำโดยศาสตราจารย์ จอร์จ เชิร์ช แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐอเมริกา ดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น
เมื่อมีการออกมาแถลงความคืบหน้าของโครงการคืนชีพแมมมอธที่สร้างความฮือฮาอย่างมากเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ชาวโลกอาจจะได้เห็นลูกช้างแมมมอธไฮบริด หรือช้างแมมมอธลูกผสมกับช้างเอเชีย ซึ่งถือเป็นญาติที่ใกล้ชิดที่สุดกับแมมมอธ ภายใน 4-6 ปีข้างหน้า อีกทั้งงบประมาณที่กำลังมีการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการนี้ ก็อยู่ที่เพียง 15 ล้านดอลลาร์ หรือราว 495 ล้านบาท (คิดในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์เท่ากับ 33 บาท)เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มีคำถามหลายประเด็นจากนักวิทย์บางส่วนเกิดขึ้นต่อโครงการปลุกชีพแมมมอธขนยาวให้กลับมาเดินในทุ่งทุนดรา อาร์กติกในขั้วโลกเหนืออีกครั้ง หลังจากพวกมันได้สูญพันธุ์ไปนับหมื่นปี โดยเฉพาะการตั้งคำถามในเรื่องจริยธรรม และวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ช้างแมมมอธฟื้นคืนชีพ กลับมามีชีวิตในโลกยุคนี้ที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป และโลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น ?
...
จุดไฟความฝัน 'โครงการคืนชีพแมมมอธ'
ทีมนักพันธุศาสตร์ นำโดยศาสตราจารย์เชิร์ชจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งริเริ่มโครงการชุบชีวิตกันมาหลายปี ได้ออกมาแถลงข่าวความคืบหน้าของโครงการเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ว่าขณะนี้ ความฝันของพวกเขาใกล้เป็นจริง เพราะได้รับเงินทุนกว่า 15 ล้านดอลลาร์ แล้ว ซึ่งได้มาจากการระดมทุนโดยบริษัทสตาร์ทอัพ ชีววิทยาศาสตร์และพันธุศาสตร์ ‘Colossal’ ซึ่งศ.เชิร์ช ก่อตั้งร่วมกับ เบนน์ แลมม์ นักธุรกิจด้านเทคโนโลยี
จากความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านพันธุศาสตร์ที่ล้ำหน้าไปจากเทคนิคเมื่อสิบกว่าปีก่อนมาก ทำให้ทีมนักพันธุศาสตร์กลุ่มนี้ใช้หลักการโดยทั่วไปอย่างเดิม คือในขั้นแรก ต้องสร้างเซลล์แมมมอธเซลล์แรกขึ้นมาให้ได้ก่อน แล้วจึงกระตุ้นให้กลายเป็นตัวก่อน และนำตัวอ่อนไปเพาะเลี้ยงในแม่ช้างเอเชียอุ้มบุญ
เมื่อปี 2558 ศาสตราจารย์เชิร์ช และคณะสามารถถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งหมดของแมมมอธได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก จากช้างแมมมอธแช่แข็งคู่หนึ่ง และตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการนำรหัสพันธุกรรมของแมมมอธขนยาวใส่เข้าไปในพันธุกรรมของช่างเอเชีย ได้ 45 ตำแหน่งแล้ว ซึ่งรหัสพันธุกรรมเหล่านี้จะทำให้ได้ลูกช้างที่มีขนยาวหนา มีไขมันสะสมใต้ ผิวหนังหนา 10 เซนติเมตร ทั้งมีฮีโมโกลบินในเลือดชนิดพิเศษ ที่ทำให้อาศัยอยู่ในอุณหภูมิต่ำได้ดีเหมือนช้างแมมมอธ จะมีหูเล็กที่เล็กลงซึ่งจะช่วยให้ทนต่อความหนาวเย็น
นอกจากนั้น ทีมนักพันธุศาสตร์กลุ่มนี้ยังพยายามจะสร้างช้างลูกผสมเอเชียกับแมมมอธ ให้ไม่มีงา เพื่อที่พวกมันจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ รอดพ้นจากการถูกล่าโดยบรรดานายพราน
อย่างไรก็ตาม ช้างเอเชียก็ยังคงมีรหัสพันธุกรรมที่แตกต่างจากแมมมอธขนยาวอีกกว่า 1,600 ตำแหน่ง ซึ่งทำให้ลูกช้างที่จะเกิดมาจากโครงการคืนชีพ อาจถูกตั้งชื่อว่า "แมมโมแฟนต์" (Mammophant) หรือ "เอเลมอธ" (Elemoth) มากกว่า
เป้าหมายโครงการปลุกชีพแมมมอธ
วัตถุประสงค์ของการปลุกชีพแมมมอธขนยาวขึ้นมาอีกครั้งของบริษัท Colossal จากการใช้วิชาการความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมพันธุศาสตร์ เพื่อสร้างแมมมอธลูกผสมขึ้นมา เพราะมีความคิดว่าพวกมันอาจช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาในเขตทุนดรา อาร์กติก พื้นที่ในบริเวณขั้วโลกเหนือ และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ช้างเอเชีย ที่กำลังเสี่ยงจะสูญพันธุ์ไว้ด้วย เนื่องจากถือเป็นญาติที่ใกล้ชิดที่สุดกับช้างแมมมอธ
จุดประเด็นด้านจริยธรรม
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความคืบหน้าในโครงการปลุกชีพแมมมอธของ ศ.เชิร์ช ได้มีความเห็นมุมมองที่แตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งต่อโครงการนี้ โดยศาสตราจารย์เลิฟ ดาเลน ศาสตราจารย์ด้านวิวัฒนาการพันธุศาสตร์ ที่ศูนย์พันธุศาสตร์บรรพชีวินในกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงสวีเดน ซึ่งทำงานเกี่ยวกับวิวัฒนาการของช้างแมมมอธมานาน เชื่อว่า การทำงานของศาสตราจารย์เชิร์ชและทีมงานมีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเป็นการทำงานที่มีเป้าหมายที่จะอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งเป็นโรคพันธุกรรม หรือขาดพันธุกรรมที่หลากหลาย อันเป็นผลของการผสมพันธุ์
...
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ดาเลนได้ตั้งคำถามต่อการปลุกชีวิตแมมมอธขึ้นมาในยุคนี้ไว้ว่า
"ถ้าสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ได้สูญเสียยีน หรือรหัสพันธุกรรมที่มีความสำคัญกับพวกมันแล้วล่ะก็ ความสามารถที่จะใส่ยีนที่สำคัญเหล่านี้ในสปีชีส์ของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ที่อาจพิสูจน์แล้วว่าสำคัญจริงๆ ผมยังคงสงสัยในจุดที่ใหญ่กว่า เพราะเหนืออื่นใดทั้งหมด คุณไม่ได้กำลังทำให้ได้แมมมอธ แต่มันเป็นช้างที่มีขนยาวที่มีไขมัน"
ศ.ดาเลน มีความเห็นว่า พวกเรารู้เบาะแสเกี่ยวกับยีนที่ทำให้เกิดเป็นแมมมอธน้อยมาก พวกเรารู้แค่เพียงนิดหน่อยเท่านั้น แต่ที่แน่ๆ คือพวกเรา ไม่รู้ว่าตรงไหนที่ใกล้จะพอ นอกจากนั้นศาสตราจารย์ดาเลน ยังอธิบายถึงช้างแมมมอธ และช้างเอเชียว่า มีความแตกต่างกัน คล้ายกับมนุษย์กับชิมแปนซี
ขณะที่มีนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ มีความเห็นว่าเป็นเรื่องไม่มีจริยธรรม ที่จะใช้ช้างที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ เป็นแม่ช้างอุ้มบุญเพื่อให้กำเนิดสัตว์ที่มาจากวิศวกรรมพันธุศาสตร์
...
เห็นต่าง 'การป้องกันไม่ให้สัตว์สูญพันธุ์ดีกว่าการชุบชีวิต'
ด้านโจเฟซ เฟรดเดอริคสัน นักบรรพชีวินวิทยาและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Weis Earthในเมืองเมนาชา รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาตั้งแต่เด็กจากการได้ชมภาพยนตร์เรื่องจูราสสิค พาร์ก มีความเห็นต่อวัตถุประสงค์ในโครงการชุบชีวิตแมมมอธนี้เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในเขตทุนดรา อาร์กติกและช่วยป้องกันไม่ให้ช้างเอเชียสูญพันธุ์ว่า เขามีความคิดว่าเป้าหมายที่สำคัญกว่าการชุบชีวิต คือการป้องกันไม่ให้พวกมันสูญพันธุ์ไปจากโลก
'ถ้าคุณสร้างแมมมอธหรืออย่างน้อยช้างขึ้นมาสักตัว ที่ดูว่าเป็นการก๊อบปี้ที่ดีของแมมมอธที่สามารถรอดชีวิตได้ในไซบีเรีย คุณสามารถทำนิดหน่อยเพื่อแรดขาวหรือแพนด้ายักษ์' เฟรดเดอริคสันกล่าว
'แมมมอธอาจไม่พอใจกับระบบนิเวศวิทยาที่มีอยู่ในขณะนี้ก็ได้ เพราะการมีวิถีชีวิตของสัตว์ที่ยังคงรักษาเผ่าพันธุ์ของพวกมันไว้ได้ คือการปรับตัวอย่างต่อเนื่องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการทำให้บางอย่างของคุณลักษณะทั้งหมดในสิ่งมีชีวิตสมัยไพลสโตซีน (ก่อนยุคน้ำแข็ง}กลับมา อาจไม่หมายถึงพวกมันจะรอดชีวิตในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณมีการผสมรหัสพันธุกรรมที่คุณไม่รู้จักกับรหัสพันธุกรรมอื่นๆ ในสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสภาพอากาศอบอุ่น และพยายามจะย้ายพวกมันไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่' เฟรดเดอริคสัน หนึ่งในนักบรรพชีวินวิทยา แสดงความเห็นต่างต่อโครงการชุบชีวิตแมมมอธ.
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์
...