องค์การสหประชาชาติออกโรงเตือนว่า แม้ตอนนี้นับร้อยประเทศมีแผนรับมือกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่โลกยังคงกำลังร้อนขึ้นไปสู่ระดับที่อันตราย
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติหลายคนได้วิเคราะห์แผนรับมือปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ของรัฐบาลมากกว่า 100 ประเทศ และได้ข้อสรุปว่า พวกเขากำลังไปผิดทาง
เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งออกมายืนยันว่า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของภาวะโลกร้อน ทั่วโลกจำเป็นต้องตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 45% ของระดับปัจจุบัน ภายในปี 2573 แต่ผลการวิเคราะห์ใหม่กลับพบว่า ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงเวลาดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้นถึง 16%
เรื่องนี้หมายความว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 2.7 องศาเซลเซียส ไกลกว่าขีดจำกัดที่ทั่วโลกขีดเอาไว้ที่ 1.5 องศาฯมาก “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 16% นั่นเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก” นางแพทริเซีย เอสปิโนซา หัวหน้าผู้แทนเจรจาด้านสภาพอากาศขององค์การสหประชาชาติกล่าว
ทั้งนี้ การเปิดเผยล่าสุดสะท้อนให้เห็นขนาดของความท้าทายที่นานาชาติต้องเผชิญที่การประชุมสุดยอดด้านภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ในอีก 6 สัปดาห์ข้างหน้า โดยภายใต้ความตกลงปารีส ชาติที่เข้าร่วมต้องอัปเดตแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศทุกๆ 5 ปี
...
แต่สหประชาชาติพบว่า จากชาติสมาชิกทั้งหมด 191 ประเทศ มีเพียง 113 ประเทศที่มีแผนที่ได้รับการอนุมัติ โดยนายอาลอค ชามาร์ รัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งจะร่วมการประชุม COP26 ด้วย กล่าวว่า ประเทศที่มีแผนสภาพอากาศสามารถเปลี่ยนเส้นกราฟการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำลงมาได้แล้ว แต่หากไม่มีความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด ความพยายามเหล่านี้จะสูญเปล่า
ขณะที่ผลการศึกษาโดยองค์กรอิสระด้านแผนสภาพอากาศ ‘Climate Action Tracker’ พบว่า มีไม่กี่ประเทศเท่านั้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้ง 20 (G20) รวมทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ที่เพิ่มเป้าหมายการตัดลดก๊าซเรือนกระจก ขณะที่จีน, อินเดีย, ซาอุดีอาระเบีย และตุรกี ซึ่งมีอัตราปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมถึง 33% ของปริมาณทั้งหมด ยังไม่ได้ยื่นแผนอัปเดตเลย ส่วน บราซิล, เม็กซิโก และรัสเซีย ยังมีแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น
นายโซยนัม พี. วังดี ประธานกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่สุด (Least Developed Countries group) ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง และคลื่นความร้อนกับความแห้งแล้งสุดขั้ว อันเป็นผลการที่อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ออกมาเรียกร้องใหชาติ G20 รีบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร็ว “ประเทศเหล่านี้มีศักยภาพและมีส่วนรับผิดชอบใหญ่หลวงที่สุด และมันเลยเวลาที่พวกเขาควรยกระดับมาตรการ และแก้วิกฤตินี้ให้เหมือนกับว่ามันเป็นวิกฤติจริงๆ มานานแล้ว”.