วัตถุหนึ่งในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจศึกษาอย่างต่อเนื่องก็คือดาวเคราะห์น้อยคลีโอพัตรา (Kleopatra) เป็นวัตถุที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในระบบสุริยะ และจะช่วยให้นักดาราศาสตร์เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบสุริยะของเราได้
ดาวเคราะห์น้อยคลีโอพัตรา หรือดาวเคราะห์น้อยกระดูกสุนัข เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายกระดูกสุนัข ถูกสังเกตการณ์ด้วยเรดาร์เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2551 ทีมนักดาราศาสตร์จากสถาบันเซติ ในเมาน์เทน วิว สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่าดาวเคราะห์น้อยคลีโอพัตราโคจรรอบดวงจันทร์ 2 ดวงชื่อ อเล็กซ์เฮลิออส (AlexHelios) และคลีโอเซลีนี (CleoSelene) ตั้งตามชื่อของอเล็กซานเดอร์ เฮลิออส และ คลีโอพัตรา เซลีน ลูกแฝดชาย-หญิงของราชินีแห่งอียิปต์ ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์กลุ่มเดิมเผยว่าจากการใช้กล้องโทรทรรศน์วีแอลทีของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป ทำให้ได้ภาพที่คมชัดและมีรายละเอียดมากที่สุดของดาวเคราะห์น้อยคลีโอพัตรา จนสามารถจำกัดรูปร่าง 3 มิติและมวลของดาวเคราะห์น้อยประหลาดนี้ได้แม่นยำกว่าที่เคยเป็นมา โดยพบว่าลอนข้างหนึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอีกข้าง และยังกำหนดความยาวของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ที่ประมาณ 270 กิโลเมตร หรือเทียบได้กับครึ่งหนึ่งของความยาวช่องแคบอังกฤษ
ทั้งนี้ โครงสร้างกองเศษหินของดาวเคราะห์น้อยคลีโอพัตราและวิธีที่มันหมุนยังบ่งชี้ว่าดวงจันทร์ 2 ดวงก่อตัวได้อย่างไร ซึ่งทีมเชื่อว่าก้อนหินเหล่านั้นได้ก่อตัวเป็นดวงจันทร์อเล็กซ์เฮลิออสและคลีโอเซลีนีในเวลาต่อมา นั่นหมายความว่าดาวเคราะห์น้อยคลีโอพัตราได้ให้กำเนิดดวงจันทร์ของตัวเองอย่างแท้จริง.
Credit : ESO/Vernazza, Marchis et al./MISTRAL algorithm (ONERA/CNRS)
...