ณ เพลานี้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลแต่ละประเทศอยู่ในสภาพ “ลองผิดลองถูก” อย่างแท้จริง ในเรื่องการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสมรณะ “โควิด–19”

โดยโมเดลที่นำมาใช้งาน พอจะจำแนกได้ 2 แบบ อย่างแรก คุมโควิดให้อยู่หมัด ตัดตอนการแพร่ระบาดให้รวดเร็ว ด้วยมาตรการที่เข้มงวดไปเลย เช่น จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อที่ว่าเปิดประเทศเมื่อใด คนจะมีความพร้อมทางภูมิคุ้มกัน ถึงติดไปก็มีโอกาสเสียชีวิตต่ำ

และแบบที่สอง คือระดมฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และพยายามอยู่กับเชื้อไวรัสให้ได้ ไม่ต้องควบคุมการติดเชื้ออะไรมาก อย่างในสหรัฐฯ หรืออังกฤษ ที่แทบจะปล่อยฟรีไม่สนตัวเลขแต่อย่างใด โดยที่สหรัฐฯในช่วงนี้ ยอดเฉลี่ยติดเชื้ออยู่ที่วันละ 148,538 คน เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 1,537 คน อังกฤษยอดเฉลี่ยติดเชื้ออยู่ที่วันละ 38,503 คน เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 133 คน

อย่างไรก็ตาม คงเป็นเรื่องยากมากที่จะชี้ชัดว่า “วิธีไหนถูก” เพราะแต่ละประเทศมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน อย่างของจีนมีการประเมินว่า ประชากรส่วนมากที่เงินเก็บและรายได้ที่เพียงพอ ที่จะเผชิญมาตรการล็อกดาวน์เป็นระยะๆของภาครัฐแต่อย่างสหรัฐฯ ที่มีสิทธิเสรีภาพและขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม ก็จะต่างกันออกไป

และสิ่งที่สำคัญคือ ภายหลังจากนี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแน่นอนทั่วโลก เพราะตราบใดที่ไวรัสยังคงวนเวียนอยู่ ไม่หายไปไหน โอกาสที่จะเกิดการ “กลายพันธุ์” มีตัวใหม่ๆอุบัติขึ้น ก็ยังคงอยู่

เหมือนที่กลายเป็นกระแสข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวกลายพันธุ์ “มิว” (Mu ตัวอักษรกรีก) กำลังถูกจับตาอย่างเข้มข้น หลังพบการแพร่ระบาดแล้วใน 42 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) ยืนยันการตรวจพบใน 49 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ

...

ชื่อรหัสว่า B.1.621 ตรวจพบครั้งแรกในโคลอมเบีย ภูมิภาคอเมริกาใต้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2564 อัตราการติดเชื้อในโคลอมเบียช่วงกลางปีอยู่ที่ 39 เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วงเวลา 4 สัปดาห์ ระหว่างกลางเดือน ส.ค. ถึงต้นเดือน ก.ย. ก็ไม่มีการตรวจพบอีก แสดงให้เห็นว่าเชื้อไปแพร่ระบาดในประเทศอื่นๆในภูมิภาคแทน อย่างเอกวาดอร์ ที่ตรวจพบในอัตรา 13 เปอร์เซ็นต์ และชิลีที่พบในอัตราต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

ตารางขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีการจำแนกตัวกลายพันธุ์โควิด–19 ไว้ 2 ประเภท คือ 1.ตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern : VOC) ที่มีคุณสมบัติติดต่อได้ง่าย หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ประกอบด้วย “อัลฟา” (จากอังกฤษ) “เบตา” (จากแอฟริกาใต้) “แกมมา” (จากบราซิล) และ “เดลตา” (จากอินเดีย) และ 2.ตัวกลายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการจับตา (Variants of Interest:VOI) ซึ่งมีคุณสมบัติและความอันตรายยังไม่ชัดเจน แต่มีความสามารถในการแพร่ระบาดได้

ในตาราง VOI ทีแรก มีตัวกลายพันธุ์ถูกบรรจุไว้ 4 ตัว คือ “เอตา” (จากยุโรป และแอฟริกา) “ไอโอตา” (จากสหรัฐฯ)“แคปปา” (จากอินเดีย) “แลมบ์ดา” (จากเปรู) แต่บัดนี้ มีแล้วทั้งหมด 5 ตัว โดย “มิว” เป็นเชื้อกลายพันธุ์ตัวล่าสุดที่เพิ่งถูกบรรจุเข้าในรายชื่อ เป็นตัวแรกในรอบ 3 เดือน

จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ว่าสุดท้ายแล้วมิวจะได้รับการยกระดับบรรจุอยู่ในตัวกลายพันธุ์ VOC หรือไม่? จากการจำแนกในห้องแล็บเบื้องต้น พบว่ามีรหัสการกลายพันธุ์ P681H แบบเดียวกับเชื้อ “อัลฟา” ที่อาจเป็นสาเหตุให้อัลฟาลุกลามได้รวดเร็ว ตามด้วยรหัสกลายพันธุ์ E484K และ K417N แบบเดียวกับเชื้อ “เบตา” จึงเพิ่มความเป็นไปได้ ที่จะมีความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันของคนที่ติดเชื้อมาก่อนหรือคนที่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน

มิวยังมีรหัสการกลายพันธุ์แบบใหม่อีก 2 อย่าง คือ R346K และ Y144T ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะส่งผลเช่นไรต่อคุณสมบัติของเชื้อ ขณะที่รายงานด้านอื่นๆยังระบุด้วยว่า จากการทดลองในห้องแล็บในกรุงโรม อิตาลี พบว่าวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค มีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเผชิญกับมิว และในช่วงต้นเดือน ส.ค. การแพร่ระบาดของมิวในบ้านพักคนชรากรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน

นายไมค์ ไรอัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อประจำองค์การอนามัยโลก ให้ความเห็นว่า จากกลุ่มตัวกลายพันธุ์ทั้งหมดนั้น ยังถือว่า “เดลตา” คือตัวท็อปที่สุดในรุ่นตอนนี้ โดยเฉพาะคุณสมบัติในการแพร่ระบาด ที่เพิ่มขึ้นจากไวรัสโควิด-19 ตัวแรกเริ่มถึง 2 เท่า ซึ่งผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็น นับตั้งแต่ตรวจพบในเดือน ต.ค. 2563 เดลตาก็ลุกลามไปยัง 170 ประเทศทั่วโลก และสามารถเบียดบังแย่งที่ไวรัสตัวอื่นๆ

ดังนั้น จึงต้องขอเวลาศึกษาเพิ่มเติม ว่าตัวกลายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในลิสต์อยู่ระหว่างการจับตาจะมีคุณสมบัติเช่นไร แต่หากมันถูกยกระดับเป็นตัวกลายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวลเมื่อไร ก็จะถึงเวลาที่ต้องมาวินิจฉัยกันอย่างละเอียด รวมถึงขั้นตอนการพัฒนาวัคซีนกันต่อไป.

วีรพจน์ อินทรพันธ์

...