• หลายประเทศทั่วโลกยังคงเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชากรให้มากที่สุด เพื่อหวังจะสกัดกั้นการระบาดของไวรัสมรณะโควิด-19 แต่วัคซีนอย่างเดียว อาจจะไม่พอที่จะหยุดการระบาดของโรคร้ายนี้ได้
  • สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กังวลคือ การระบาดของโควิด-19 กลายพันธุ์เดลตา ที่ทำให้ยอดติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมากแล้ว ซึ่งหากการระบาดยังขยายวงกว้าง อาจจะเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสที่วิวัฒนาการสามารถสู้กับวัคซีนได้ดีขึ้นอีก
  • มาตรการอื่นๆ เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ และเว้นระยะห่าง จึงจำเป็นที่จะต้องทำควบคู่กันไป ไม่สามารถหวังพึ่งวัคซีนเพียงอย่างเดียวได้

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย สำหรับคนที่รับวัคซีนครบโดสแล้ว หลังจากยอดติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรได้จำนวนมาก และดูเหมือนสหรัฐอเมริกากำลังจะผ่านพ้นภาวะการระบาดของโรคได้แล้ว หลังจากมีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 600,000 ศพ

แต่พอเข้าสู่เดือนกรกฎาคม ประเทศสหรัฐอเมริกา กลับเข้าสู่การระบาดของโควิด-19 อีกระลอก โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูง จำนวนของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และจำนวนผู้เสียชีวิตในแทบจะทุกรัฐก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังเชื้อกลายพันธุ์เดลตาเข้ามาเป็นเชื้อที่ระบาดหลัก คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของการแพร่ระบาดทั้งหมด จากในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่พบเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวอเมริกันไปแล้วรวมทั้งสิ้นกว่า 343 ล้านโดส

...

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา หรือ CDC จึงต้องขอความร่วมมือให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้ว กลับมาสวมหน้ากากอีกครั้ง รวมทั้งใช้มาตรการอื่นๆ ร่วมด้วย จนกว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรส่วนใหญ่ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับการวางนโยบายเตรียมพร้อมรับมือกับเชื้อโควิด-19 ในอีกหลายประเทศทั่วโลก

ขณะที่งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในเนเจอร์ ไซเอ็นทิฟิค รีพอร์ต เตือนว่า วัคซีนอย่างเดียวไม่ได้ช่วยหยุดการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ แต่กลับจะยิ่งทำให้เกิดการวิวัฒนาการของเชื้อกลายพันธุ์ที่จะต้านวัคซีนได้ดีขึ้น

ไซมอน เรลลา แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออสเตรีย หนึ่งในทีมวิจัย ระบุว่า เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว เชื้อไวรัสจะมีการต่อต้านวัคซีน และพัฒนาการกลายพันธุ์เพิ่มจากเชื้อตัวเดิม และเชื้อที่ดื้อวัคซีนนี้จะสามารถแพร่ระบาดในหมู่ประชากรได้เร็วขึ้น เมื่อประชากรส่วนใหญ่รับวัคซีนแล้ว แต่หากยังคงใช้มาตรการอื่นๆ ร่วมด้วย อย่างการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างทางสังคม ก็ยังมีโอกาสที่จะจำกัดการกลายพันธุ์ในกลุ่มประชากรได้ สอดคล้องกับคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ที่ให้คนที่รับวัคซีนแล้วควรจะต้องสวมหน้ากากในที่สาธารณะ หรือพื้นที่ที่มีการระบาดสูง

นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบด้วยว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วจะลดโอกาสการต้านทานวัคซีนของเชื้อกลายพันธุ์ลงได้ ตอนนี้ภาครัฐจึงยังไม่ควรที่จะผ่อนคลายมาตรการอื่นๆ เพื่อฉลองความสำเร็จ แล้วรอให้วัคซีนทำงานเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะกับสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดเป็นหลักในเวลานี้

ด้านนายฟิโอดอร์ คอนดราชอฟ นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออสเตรีย ระบุว่า ตามปกติแล้วยิ่งมีคนติดเชื้อมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่เกิดการดื้อวัคซีนเกิดขึ้นได้มากเท่านั้น ดังนั้นยิ่งมีการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตาเป็นวงกว้าง ก็ยิ่งสร้างความกังวลมากขึ้น

...

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยผลวิจัยก่อนหน้านี้ที่พบว่า ผู้ที่รับวัคซีนแล้ว และติดเชื้อโควิด-19 จะมีปริมาณของเชื้อไวรัสในร่างกายไม่แตกต่างจากผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เท่ากับว่าคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ก็สามารถแพร่เชื้อต่อได้ ไม่แตกต่างกัน.

ผู้เขียน : อาจุมม่าโอปอล