- ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเหตุสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ โจมตีสถานที่ทำการต่างๆ และปะทะกับตำรวจ-ทหาร โดยหลายครั้งกองกำลังประชาชนออกมาประกาศรับผิดชอบว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ
- กองกำลังประชาชนที่จับอาวุธขึ้นสู้กับทหารพม่า เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม เป็นการรวมตัวของประชาชนผู้โกรธแค้น กลุ่มชาติพันธุ์ และทหาร ตำรวจ ที่แปรพักตร์มายืนตรงข้ามอำนาจรัฐ
- เป็นเวลาเดือนกว่าแล้ว ที่ประธานและเลขาธิการอาเซียนเดินทางเข้าไปพบ มิน อ่อง หล่าย แต่ดูเหมือนว่าฉันทามติ 5 ข้อ จากการประชุมผู้นำอาเซียนจะยังไม่เป็นจริงในเร็ววัน
เต็ต เต็ต โจ่ วัย 58 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหมู่ 12 ในเมืองมิตเง่ มัณฑะเลย์ ถูกยิงในระยะเผาขนกลางตลาดเมื่อเช้าวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่าสงครามระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังพิทักษ์ประชาชนของฝ่ายต่อต้านกำลังขยายวงออกไปแล้ว เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันนับแต่ประชาชนพม่าประกาศจับอาวุธขึ้นสู้กับการรัฐประหารเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา
เป็นที่แน่ชัดว่า เต็ต เต็ต โจ่ ถูกสังหารด้วยเหตุผลทางการเมืองเพราะเธอเพิ่งเข้ารับตำแหน่งหลังการรัฐประหาร ท่ามกลางการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ จนต้องไปพักอาศัยในสำนักงานเพราะกลัวถูกปองร้าย กลุ่มพลังจิ้งจอกสู้ไม่ถอย (Never Give Up: Fox Force) ประกาศว่าเป็นผู้ลงมือสังหารเจ้าหน้าที่รัฐรายนี้ เนื่องจากเธอทำงานรับใช้ระบอบเผด็จการทหาร
เต็ด เต็ต โจ่ อาจไม่ต้องกลายเป็นเหยื่อการลอบสังหารครั้งนี้ หากเธอยังเป็นแม่ค้าขายปาราธา (โรตีใส่ไส้) แทนที่จะรับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
เธอไม่ใช่คนแรก แต่เป็นเจ้าหน้าที่สตรีรายที่สองที่ถูกสังหารโดยฝ่ายต่อต้าน (รายแรกคือ โซ โซ ลวิน ในย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน) ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้กองกำลังพิทักษ์ประชาชนที่จัดตั้งโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ประกาศว่า จะละเว้นเด็กและสตรี แต่ก็อย่างที่เคยได้รายงานไปก่อนหน้านี้ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน ซึ่งเพิ่งได้รับการจัดตั้งเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ยังไม่ได้เป็นกองทัพที่มีระเบียบวินัยเข้มแข็งนัก เพราะเป็นการรวมตัวของกลุ่มประชาชนที่มีความโกรธแค้นรัฐบาลทหารเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น แต่ละกลุ่มจึงปฏิบัติการแก้แค้นตามอำเภอใจ โดยปราศจากยุทธศาสตร์ยุทธวิธีใดๆ
ความรุนแรงเริ่มทวีมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่การสังหารบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น กองกำลังพิทักษ์ประชาชนในเมืองพะโค อ้างว่าได้วางระเบิดสำนักงานของการปกครองท้องถิ่นและด่านตรวจของทหารในเมืองนั้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม เพื่อเป็นการทำลายล้างโครงสร้างพื้นฐานของระบอบทหาร ก่อนหน้านี้ก็มีรายงานเหตุการณ์วางระเบิดในที่ทำการของรัฐบาลและด่านตรวจของทหาร-ตำรวจในอีกหลายเมือง
สื่อมวลชนจากตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น BBC และ CNN รายงานว่า มีประชาชน รวมทั้งตำรวจและทหาร แปรพักตร์จากรัฐบาลไปเข้ากับกองกำลังพิทักษ์ประชาชนเป็นจำนวนหลายพันคนแล้ว ส่วนหนึ่งก็เป็นเยาวชนคนหนุ่มสาวที่หนีการไล่ล่าจากเมืองเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้าน ได้รับการฝึกอาวุธและยุทธวิธีทางทหารจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีฐานที่มั่นอยู่ใกล้ชายแดนไทย หลายคนเชื่อมั่นว่า พวกเขาจะเป็นฝ่ายชนะในสงครามการปฏิวัติปลดปล่อยพม่าจากเผด็จการทหารคราวนี้
พม่าเริ่มเข้าสู่กลียุค นับแต่ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และถูกประชาชน รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อต้านอย่างรุนแรง แต่รัฐบาลทหารกลับเลือกสังหารและจับกุมผู้ต่อต้าน จนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลทหารไปแล้ว 911 คน และ 6,694 คนถูกจับกุมคุมขัง ไม่รวมคนอีกนับแสนที่ต้องพลัดถิ่นเป็นครั้งคราว เมื่อมีการปะทะระหว่างทหารตัดมาดอว์ (Tatmadaw) กับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์
ประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ และสหภาพยุโรป ต่างมากันออกมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่า ผู้นำทางทหารและครอบครัว รวมตลอดถึงธุรกิจในเครือกองทัพ สหประชาชาติมีมติประณามการรัฐประหาร เรียกร้องให้กองทัพพม่ายุติความรุนแรง และขอร้องไม่ให้สมาชิกขายอาวุธให้กับตัดมาดอว์ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงและสถานการณ์ที่เลวร้ายในพม่าได้
ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจและผสมปนเปไปกับโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งถึงปัจจุบันมีการยืนยันผู้ติดเชื้อกว่า 200,000 คน และเสียชีวิตมากกว่า 4,000 ราย ทำให้พม่ากำลังเข้าสู่ภาวะเสี่ยงกับการกลายเป็นรัฐล้มเหลว เพราะระบบต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งระบบสาธารณสุข ไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ มีรายงานข่าวว่าประชาชนจำนวนมากต้องดิ้นรนขวนขวายหาถังออกซิเจนมาใช้เอง หลังจากโรงพยาบาลไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวมาช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เพียงพอ
กลุ่มอาเซียน ซึ่งพม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ได้ออกฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งก็รวมถึงการตั้งผู้แทนพิเศษเข้าไปช่วยพม่ายุติข้อขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติ แต่จนถึงบัดนี้ล่วงเข้าไปเกือบ 3 เดือนแล้ว นับแต่บรรลุฉันทามติดังกล่าว กลุ่มอาเซียนยังไม่สามารถสรรหาผู้แทนพิเศษที่ว่านั้นได้เลย เพราะประเทศสมาชิกไม่ลงรอยกัน บ้างก็ขัดแข้งขัดขากันเอง เพราะอยากให้คนชาติของตัวเป็นผู้แทนพิเศษ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลทหารพม่าฉกฉวยเหตุแห่งความไร้เอกภาพในกลุ่มเตะถ่วงเพื่ออยู่ในอำนาจได้ต่อไป โดยไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย
สหประชาชาติและสหรัฐฯ เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้อาเซียนเร่งบังคับฉันทามติดังกล่าวให้เป็นจริง ล่าสุด แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งเพิ่งประชุมร่วมกับกลุ่มอาเซียนเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ก็เรียกร้องให้กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกแรงกดดันพม่าอีก เพื่อหาทางทำให้ฉันทามติทั้ง 5 ข้อบังเกิดผลลัพธ์เสียที แต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ออกมาจากกลุ่มอาเซียน นับแต่ประธานและเลขาธิการอาเซียนซึ่งเป็นชาวบรูไนด้วยกันทั้งคู่ เดินทางไปเยือนพม่าและพบกับ มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน หรือกว่า 1 เดือนผ่านมาแล้วที่อาเซียนเงียบราวกับเป่าสาก
...