ข้อตกลงปารีส ในปี 2558 มีเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นที่ 1.5 องศาเซลเซียส หลายประเทศและเมืองต่างๆ ก็มีการเสนอเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก แต่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ชี้ว่าในปีที่ผ่านมา หากไม่มีการดำเนินการที่เข้มงวดจริงจังเพื่อลดวิกฤติสภาพอากาศ นั่นหมายความว่าเราก็กำลังมุ่งหน้าไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิมากกว่า 3 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษที่ 21

จริงๆก็รู้กันมานานแล้วว่า “เมือง” มีส่วนทำให้เกิดวิกฤติสภาพอากาศ ประชากรโลกทุกวันนี้มากกว่า 50% อาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ แม้ว่าเมืองจะมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 70% แต่ก็ยังรับผิดชอบต่อการใช้พลังงานที่ไม่ก่อเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือมุ่งเป้าบรรลุการกำจัดคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเหลือเพียงศูนย์

ล่าสุด มีการวิจัยใหม่เผยแพร่ลงในวารสาร Frontiers in Sustainable Cities นำเสนองบดุลระดับโลกเรื่องก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากเมืองใหญ่ทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายคือวิจัยและตรวจสอบประสิทธิภาพของนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกในอดีตซึ่งดำเนินงานโดย 167 เมืองทั่วโลกและอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาที่แตกต่างกัน นักวิจัยได้วิเคราะห์และเปรียบเทียบความคืบหน้าในการลดคาร์บอนของเมือง ตามปริมาณการปล่อยมลพิษที่บันทึกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2559 และได้ประเมินเป้าหมายการลดคาร์บอนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวของเมืองต่างๆ ทั้งในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนีย

ทั้งนี้ ผลสรุปอย่างย่นย่อก็พบว่าประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามีเมืองใหญ่ๆที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ในเอเชีย และแสดงให้เห็นว่าระดับการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นและลดลงแตกต่างกันไปตามเมืองต่างๆ ซึ่งเมือง 4 อันดับแรกที่มีการลดการปล่อยมลพิษต่อหัวมากที่สุด ได้แก่ ออสโล, ฮิวส์ตัน, ซีแอตเติล และโบโกตา ส่วนเมือง 4 อันดับแรกที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวมากที่สุด ได้แก่ ริโอ เด จาเนโร, กูรีชีบา, โจฮันเนสเบิร์ก และเวนิส

...

อย่างไรก็ตาม หากนับรวมการวิจัยนี้กับงานวิจัยอื่นๆ ก็พบว่าการจะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ของข้อตกลงปารีสนั้นยังห่างไกลเหลือเกิน.

ภัค เศารยะ