อีกกลุ่มประเทศหนึ่งซึ่งโลกกำลังให้ความสนใจและมีการทำนายทายกันว่าน่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจบูมในทศวรรษต่อไป เป็นกลุ่มที่มีอนาคต และสามารถเชื่อมได้ทั้งรัสเซีย จีน อินเดีย อิหร่าน ตุรกี ยุโรปตะวันออก และยุโรปตะวันตก นั่นคือ “กลุ่มเอเชียกลาง”

เอเชียกลางในอดีตเจริญมาก เพราะการขนส่งสินค้าระหว่างจีน-ยุโรป จะต้องผ่านเอเชียกลาง แต่พอมีคลองสุเอซ (ทำให้การขนส่งทางเรือไม่ต้องผ่านแหลมกู้ดโฮป) คนก็หันไปใช้เส้นทางเดินเรือที่ผ่านคลองสุเอซแทน การขนส่งทางบกผ่านเอเชียกลางจึงลดความสำคัญลง ตอนที่พ่อผมไปตระเวนระหว่าง พ.ศ.2534-2550 บางแห่งที่มีอดีตเคยเป็นเมืองยิ่งใหญ่ มีประชากรมากมาย กลายเป็นเมืองแทบร้างเสียด้วยซ้ำไป

รถไฟขนส่งสินค้าจากเมืองต่างๆของจีน แวะเอเชียกลางและแล่นต่อไปต่อยังยุโรปเป็นประจำ ทำให้เอเชียกลางฟื้นอย่างอัศจรรย์ เมื่อถามว่า เอเชียกลางอยู่ทางแถบไหน ก็ตามชื่อเลยครับ คืออยู่กลางทวีปเอเชีย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย เป็นทะเลทราย และภูเขา มีที่ราบสูงที่แห้งแล้ง

เอเชียกลางประกอบด้วย เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และเขตปกครองตนเองทิเบต ทั้ง 3 เขตเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวมองโกลและเติร์ก สหรัฐฯและตะวันตกจึงพยายามเข้าไปปฏิบัติการจิตวิทยาจากชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ให้ต่อต้านจีนซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น

จีนระวังการแทรกแซงจากตะวันตก จึงทุ่มสรรพกำลังสร้างความเจริญให้กับ 3 เขตปกครองตนเองที่อยู่ในพื้นที่เอเชียกลางอย่างเต็มที่

เอเชียกลางยังรวมถึงประเทศมองโกเลีย สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน เติร์กเมนิสถาน และทาจิกิสถาน การจัดภูมิรัฐศาสตร์ของบางองค์กรโลก ยังรวมเอาอัฟกานิสถานและปากีสถานเข้าไปรวมในพื้นที่ของเอเชียกลางด้วย

...

เอเชียกลางเป็นพื้นที่ที่มีแร่หายากที่โลกต้องการสูง มีเทือกเขาสำคัญคือ อัลไต เทียนชาน คุนลุนชาน ฮินดูกูช และหิมาลัย ทะเลทรายในเอเชียกลางกว้างใหญ่ไพศาล มีทั้งทะเลทรายโกบี และตักลามากัน ที่มีทั้งถ่านหิน น้ำมัน ยูเรเนียม และทองคำ ความที่อยู่ใกล้กับรัสเซียและจีนซึ่งเป็น 2 ประเทศที่มีเทคโนโลยีการสำรวจล้ำสมัย ทำให้ในปัจจุบัน แผ่นดินที่เคยไร้ค่า แห้งแล้ง ไม่มีต้นไม้ใบหญ้า กลายเป็นแผ่นดินที่คนสนใจเข้าไปพัฒนาเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้

สมัยก่อนตอนโน้น คนเรียกตักลามากันว่า “ทะเลทรายแห่งความตาย” แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนแล้วครับ เปลี่ยนมาเป็น “ทะเลทรายแห่งความร่ำรวย” เพราะบริษัทปิโตรไชน่า ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากทะเลทรายแห่งนี้ได้มากมายมหาศาล มีแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซในทะเลทรายที่สำรวจเจอแล้วมากกว่า 100 แห่ง

30 มิถุนายน 2564 รัฐบาลจีนเปิดทางด่วนข้ามทะเลทรายอย่างเต็มรูปแบบ เชื่อมกรุงปักกิ่งกับนครอุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางด่วนทั้งสายมีความยาว 2,800 กิโลเมตร ซึ่งช่วงที่ตัดผ่านทะเลทรายที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ยาวถึง 500 กิโลเมตร ทางด่วนสายปักกิ่ง-อุรุมชี ลดระยะทางลงได้ถึง 1,300 กิโลเมตร ผ่านมณฑลเหอเป่ย์ ซานซี มองโกเลียใน และกานซู่ ทำให้การเดินทางไปกลุ่มภูมิภาค เอเชียกลางโดยรถยนต์สะดวกรวดเร็วขึ้น

ที่ใดเจอน้ำมัน ที่นั่นสหรัฐฯจะเก็บอาการไม่อยู่ จ้องดูด้วยสายตาลุกวาว ไม่ใช่เพียงแค่ความอยากได้ (เหมือนอย่างที่เคยทำกับอิรัก) แต่เป็นความอิจฉา กลัวว่าจีนจะผงาดเพราะมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นของตนเยอะแยะ (จีนยังได้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ซึ่งมีการต่อท่อตรงถึงกัน โดยจ่ายเป็นเงินหยวนและรูเบิล)

ตอนนี้ ในโซเชียลมีเดียมีสตรีวัยกลางคนออกมาตะโกนก้องร้องป่าวว่าตนเป็นชาวอุยกูร์อยู่ในจีน ครอบครัวถูกทหารจีนทำร้ายและข่มขืน แต่สมัยนี้โกหกอะไรได้ยาก บั้นปลายท้ายที่สุด ความจริงก็เปิดเผยว่า สตรีผู้นี้เป็นชาวอุยกูร์ที่อพยพไปอยู่ที่สหรัฐฯนานแล้ว ไปอยู่ก่อนที่จีนจะเจอน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลย้ายไปอยู่ก่อนที่สหรัฐฯจะสนใจภูมิภาคนี้ซะอีก.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com