ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมในวงกว้างครั้งประวัติศาสตร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ทำให้มีอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบมากกว่า 80 ปี ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นต่อไปตลอดสัปดาห์
ทั้งนี้ คริสตี เอบี ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้ศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกล่าวว่า สภาพอากาศสุดขั้วครั้งนี้เกิดจาก “โดมความร้อน” ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของชั้นอากาศใกล้พื้นดินอุ่นกว่าปกติ เพราะความร้อนโดยตรง ที่ขยายออกไปอยู่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ โดยคลื่นความร้อนที่ยืดเยื้อยาวนานหลายวันเช่นนี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศทำให้มนุษย์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนแบบสุดขั้ว
ที่พอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 45.5 องศาเซลเซียสในวันที่ 28 มิ.ย. ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดที่ 44.4 องศาเซลเซียสเมื่อวันก่อน ชาวบ้านต้องพึ่งพาความเย็นจากแม่น้ำวิลลาแมทท์ ส่วนบริเวณใกล้เคียงที่เมืองยูจีน รัฐโอเรกอน ก็ต้องระงับการแข่งขันกรีฑาโดยเลื่อนไปจัดในช่วงเย็นแทน เนื่องจากอากาศร้อนจัดถึง 43.3 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 42.2 องศาเซลเซียส ส่วนที่ซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน ที่มักจะมีฝนตกก็มีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสถิติที่สร้างความประหลาดใจให้ชาวเมืองที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน
ส่วนที่แคนาดา ประชาชนต่างออกมาหาซื้อเครื่องปรับอากาศและพัดลมเคลื่อนที่จากร้านค้าต่างๆจนขายหมดเกลี้ยง ขณะที่เมืองต่างๆได้เปิดศูนย์ทำความเย็นฉุกเฉิน มีการแจกขวดน้ำและหมวก เนื่องจากความร้อนที่พุ่งสูงในหลายท้องที่ รวมถึงสกีรีสอร์ตในเมืองวิสต์เลอร์ คลินิกฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายแห่งต้องถูกยกเลิก โรงเรียนประกาศปิดการเรียนการสอน ในเมืองแวนคูเวอร์ เจ้าหน้าที่ได้ตั้งน้ำพุชั่วคราวและติดตั้งระบบพ่นละอองน้ำตามมุมถนน ส่วนที่ชุมชนลิตตัน รัฐบริติชโคลัมเบีย ก็ได้รับอานิสงส์ของคลื่นความร้อน ทำให้มีอุณหภูมิ 46.6 องศาเซลเซียส เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นสถิติสูงสุดใหม่ตลอดกาลในแคนาดา
...
เจ้าหน้าที่ยังออกคำเตือนว่ารัฐบริติชโคลัมเบีย อัลเบอร์ตา และบางส่วนของซัสแคตเชวัน แมนิโทบา ยูคอน และพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือจะต้องเผชิญคลื่นความร้อนนี้ต่อไปตลอดสัปดาห์ โดยคาดว่าอุณหภูมิจะสูงถึง 47 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น ทั้งนี้คลื่นความร้อนครั้งล่าสุดในแคนาดาทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 70 รายในปี 2561.