นิตยสาร “ไทม์” เผย กระแสน้ำเข้าใกล้หัวใจทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ทั้งพระบรมหาราชวัง และวัดเก่าแก่ริมฝั่งเจ้าพระยา ทั้งยังระบุว่ารัฐบาลและฝ่ายค้านรวมทั้งผู้สนับสนุน ยังทะเลาะเบาะแว้งกล่าวโทษซึ่งกันและกัน ขาดแผนบริหารจัดการน้ำที่เป็นเอกภาพ...
นิตยสาร “ไทม์” รายงานเกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด โดยระบุว่ากระแสน้ำเริ่มไหลเข้าใกล้หัวใจทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ โดยเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. ระดับน้ำที่นอกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวังเดิม ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สูงถึงหัวเข่าแล้ว นอกจากนี้ ยังมีวัดและวังเก่าแก่อีกมากมายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงมีพระราชกระแสผ่านผบ.ทบ.ว่า ไม่โปรดให้ป้องกันพระราชฐานเป็นพิเศษ ปล่อยให้น้ำไหลตามธรรมชาติ
...
ด้านกองทัพไทยสัญญาว่าจะสนธิกำลังทหาร 50,000 นายเพื่อเบี่ยงเบนทางน้ำและช่วยประชาชนอพยพ ขณะท่ีภาครัฐกระตุ้นให้ประชาชนทิ้งกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ไทม์เผยด้วยว่า นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมทั้งผู้สนับสนุน ยังทะเลาะเบาะแว้งกล่าวโทษซึ่งกันและกัน ขณะท่ีทหาร พระสงฆ์ และอาสาสมัครหลายพันคนเร่งทำงานเพื่อพยายามยกระดับพนังกั้นน้ำ และแจกจ่ายอาหารและเครื่องบรรเทาทุกข์อื่นให้ผู้ประสบภัย
นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะศปภ. ซึ่งตั้งอยู่ที่สนามบินดอนเมืองและถูกน้ำท่วมโอบล้อมอยู่ ให้ข้อมูลที่สับสนและขัดแย้งกันต่อประชาชน อีกทั้งมีการเผยแพร่ภาพและวิดีโอทางอินเตอร์เน็ต แสดงให้เห็นว่าเครื่องบรรเทาทุกข์จากรัฐบาลและที่ได้รับบริจาคจากสาธารณชน ถูกลำเลียงโดยรถบรรทุกท่ีมีป้ายช่ือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและบรรดานักการเมืองฝ่ายรัฐบาลคนอื่นๆ ติดอยู่ ทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่าพวกเขาใช้ภัยพิบัติสร้างความได้เปรียบทางการเมือง ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้าน ก็ถูกโจมตี หลังมีรายงานว่าพาครอบครัวหลบไปพักผ่อนที่มัลดีฟส์
รายงานของไทม์ระบุด้วยว่า รัฐบาลไทยสัญญาว่าจะสอบสวนสาเหตุของน้ำท่วมเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ทั้งยังให้ความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติ ว่ารัฐบาลจะกำหนดแผนงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องโรงงานและเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต แต่หนังสือพิมพ์ของไทยบางฉบับเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ว่า ถึงแม้รัฐบาลไทยจะทุ่มงบประมาณกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( กว่า 150,000 ล้านบาท) ในช่วงปี 2548 ถึง 2552 เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่ไร้ประสิทธิภาพ และประเทศไทยยังคงขาดแผนบริหารจัดการน้ำที่เป็นเอกภาพ.
...