ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเรียกร้องให้ปรับปรุงการสื่อสารระหว่างประเทศ เพื่อนำเสนอมุมมองที่แท้จริง หลายมิติ และรอบด้านของจีน แก้ไขภาพลักษณ์ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งต้นตอเชื้อไวรัส และมีชัยในวาทกรรมเหนือคู่ต่อสู้อย่างสหรัฐฯและพันธมิตรของสหรัฐฯ

ในการประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (โปลิตบูโร) ครั้งที่ 30 เมื่อ 31 พ.ค. ผู้นำจีนย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสำคัญของการปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพการสื่อสารระหว่างประเทศ โดยกระตุ้นให้เพิ่มการสร้างสรรค์ และช่วยกันแนะนำวัฒนธรรมจีนในต่างแดน เร่งสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ น่าชื่นชม และน่านับถือของจีน ส่งเสริมจุดยืน ภูมิปัญญาในการมีส่วนร่วมมากขึ้นต่อการร่วมแก้ไขปัญหามนุษยชาติในระดับโลก ในขณะที่ต้องเผชิญความบาดหมางกับสหรัฐฯ และภาพลักษณ์เชิงลบต่อจีนที่สูงเป็นประวัติการณ์ในหลายส่วนของโลก พร้อมยังระบุว่าจีนควรผูกมิตรให้มาก รวมกลุ่มสามัคคี และขยายสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องกับผู้ที่เข้าใจและเป็นมิตรกับจีน ด้วยการสื่อสารที่เปิดเผยและมั่นใจแต่สุภาพและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน

ถ้อยแถลงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้นำจีนอาจทบทวนกลยุทธ์การสื่อสารในเวทีโลก หลังจากที่ผ่านมาจีนดำเนินนโยบายการทูตแบบกองพันหมาป่า ที่มักโต้ตอบในประเด็นต่างๆแบบทันควัน ตรงไปตรงมาและเฉียบขาด รวมถึงใช้มาตรการต่างๆทางการค้าต่อประเทศที่มีประเด็นพิพาท ห้ามการเดินทาง รวมทั้งการประท้วงทาง การทูต ที่ยิ่งทำให้ถูกมองว่าแข็งกร้าว โดยนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำจีนเรียกร้องให้ผู้ปฏิบัติงานของพรรคและสื่อที่รัฐควบคุมให้บอกเล่าเรื่องราวของจีนอย่างดี เพื่อให้โลกรับรู้และนำเสนอเรื่องราวในแง่บวก

...

ด้านนายหวัง อี้เหว่ย ผู้อำนวยการสถาบันวิเทศ สัมพันธ์แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน และอดีตนักการทูตจีน กล่าวว่า จีนมักใช้การทูตที่แข็งกร้าวตอบสนองชาวตะวันตกที่สร้างภาพให้จีนเป็นภัยคุกคาม แต่สิ่งเหล่านี้กลับยิ่งส่งผลด้านลบต่อชาวจีนทั้งในและต่างประเทศ ภาพลักษณ์ของจีนในตะวันตกเสื่อมโทรมลงอย่างหนักนับแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาแก้ไขอย่างจริงจัง พร้อมกล่าวเสริมว่าการเติบโตทางอำนาจจีนจำต้องได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก จึงจะเป็นการเติบโตที่แท้จริง

อย่างไรก็ตามยังต้องรอดูว่าการผลักดันดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรต่อนโยบายของจีนในข้อพิพาทกับประเทศต่างๆ อย่างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย หรือสหภาพยุโรป ซึ่งล้วนแต่มองว่ามีความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ข้อมูลจากศูนย์วิจัยพิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมายังพบว่าความคิดเห็นที่มีต่อจีนเป็นลบอย่างมากใน 14 ประเทศเมื่อปีที่แล้ว.