โลกได้อุ่นขึ้นเกือบ 1.1 องศาเซลเซียสตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็ร้อนกว่า 5 ปีก่อนหน้านั้น ซึ่ง การเร่งความเร็วอาจเป็นเพียงชั่วคราวหรืออาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นทั้งจากมนุษย์สร้างขึ้น และมาจากความร้อนตามธรรมชาติจากรูปแบบสภาพอากาศ เช่น ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่รุนแรงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

รายงานของสหประชาชาติในปี พ.ศ.2561 บอกว่าอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มที่จะแตะ 1.5 องศา ในช่วงปี พ.ศ.2573-2595 ดูทรงแล้วก็ไม่ง่ายเลยที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของข้อตกลงปารีสปี 2558 ซึ่งประเทศต่างๆ ตั้งเป้าหมายพื้นฐานร่วมกันในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส

หากมองจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่ผ่านมา เช่น ไฟป่าในแอมะซอน อาร์กติก ออสเตรเลีย หรือรัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกา ที่ก็สู้กับไฟป่าอย่างเป็นประวัติการณ์ ภัยแล้งและคลื่นความร้อนคือตัวเพิ่มความเสี่ยงเกิดไฟป่าอย่างมาก เชื่อว่าภัยจากสภาพภูมิอากาศเหล่านี้จะดำเนินต่อไปอย่างน้อยในช่วงทศวรรษที่ 2060

ล่าสุด การประเมินแนวโน้มสภาพภูมิอากาศโลกฉบับปรับปรุงใหม่ โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกและสำนักงานบริการด้านอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักร รายงานว่ามีโอกาส 40% ที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ยต่อปีจะสูงกว่า 1.5 องศาเป็นการชั่วคราว เรียกว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม และเลยขีดจำกัดด้านสภาพภูมิอากาศของข้อตกลงปารีส ทั้งนี้ ในรายงานเผยว่ามีโอกาส 90% ที่ระหว่างปี พ.ศ.2564-2568 อาจมีอย่างน้อย 1 ปี จะเป็นปีที่ร้อนแรงที่สุด

และเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า น้ำแข็งเกิดการละลายมากขึ้น ระดับน้ำทะเลก็สูงขึ้นด้วย ตามมาด้วยคลื่นความร้อนที่มากขึ้น และสภาพอากาศรุนแรง สิ่งที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกต้องเผชิญก็คือผลกระทบที่มากขึ้นต่อความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

...

อย่างไรก็ตาม มีนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแกรนแธมที่อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ในอังกฤษ ได้ท้วงติงว่า ปีเดียวที่อุณหภูมิจะสูงกว่า 1.5 องศา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะละเมิดเป้าหมายของข้อตกลงปารีส แต่ก็ยอมรับว่านี่เป็นข่าวร้ายมาก และเป็นการย้ำเตือนว่าการดำเนินการด้านสภาพอากาศจนถึงปัจจุบันนั้น ยังไม่เพียงพอทั้งหมด จำเป็นต้องลดการปล่อยมลพิษอย่างเร่งด่วนให้เหลือศูนย์เพื่อหยุดภาวะโลกร้อน

เป็นหนทางที่ยาวไกลและท้าทายเหลือเกิน.

ภัค เศารยะ