- องค์การอนามัยโลก ชี้ การทำงานล่วงเวลาส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวและเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ
- ขณะเดียวกันยังพบว่าการทำงานที่บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พนักงานทำงานเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 2.5 ชั่วโมง และทำให้เส้นแบ่งระหว่างการพักผ่อนอยู่บ้านและการทำงานนั้นเลือนหายไป
- ในปี พ.ศ 2559 มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการทำงานล่วงเวลาอย่างน้อย 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 745,000 ศพ ซึ่งการเสียชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด แต่เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลในช่วงชีวิตหลังการทำงาน
ด้าน องค์การอนามัยโลก ชี้ว่า การทำงานเกินเวลานั้น สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยความเครียดจากการทำงานล่วงเวลา ส่งผลต่อการตอบสนองทางสรีรวิทยา กระทบระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
นอกจากนี้การทำงานที่ยาวนานเกินกว่าที่ร่างกายและจิตใจจะรับไหว ยังส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้พยายามลดความเครียดลง แต่กลับเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายต่อสุขภาพทั้งสิ้น เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์, ขาดการออกกำลังกาย และการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
“ทำงาน 55 ชั่วโมง หรือเกินกว่านั้นต่อสัปดาห์ ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างแสนสาหัส” แพทย์หญิง มาเรีย เนย์รา ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศกล่าว โดยเธอได้ชี้ให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล, บริษัท และพนักงาน จะต้องยอมรับความจริงที่ว่าการทำงานล่วงเวลานั้น เป็นปัจจัยที่สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
...
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้หลายบริษัทได้ปรับเปลี่ยนให้พนักงานทำงานจากที่บ้านนั้น ทำให้ พนักงานในสหราชอาณาจักร, ออสเตรีย, แคนาดา และสหรัฐอเมริกา นั้นต้องทำงานมากกว่าชั่วโมงงานปกติเฉลี่ยราว 2.5 ชั่วโมง ทำให้เกิดความกดดันในการทำงานเพิ่มมากขึ้น
เวลาทำงานที่มากเกินไปกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตกว่า 70,000 ศพ ต่อปี แม้ว่าการทำงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง แต่การทำงานล่วงเวลาได้นำไปสู่อัตราการเกิดโรคร้ายมากขึ้น เช่น หัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง ด้านองค์การอนามัยโลก และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้ประเมินว่าในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานล่วงเวลาอย่างน้อย 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถึง 745,000 ศพ ซึ่งการเสียชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด แต่เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลในช่วงชีวิตหลังการทำงาน หรือในวัยราว 60 ถึง 79 ปี ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวได้ทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่อายุ 45 ถึง 74 ปี
เพศชายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยคิดเป็น 72 เปอร์เซ็นต์ ของยอดการเสียชีวิต ซึ่งผู้ที่อาศัยบริเวณประเทศ แปซิฟิกตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มคนทำงานในช่วงวัยกลางคนและสูงอายุ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่วารสารสิ่งแวดล้อม พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจที่เชื่อมโยงกับการทำงานล่วงเวลานั้นขยับขึ้น 42 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี พ.ศ 2543 ถึง 2559 ผู้ที่ทำงานเกิด 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเส้นเลือดในสมองเพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์ และมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มมขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ทำงานสัปดาห์ละ 35 ถึง 40 ชั่วโมง
ด้าน ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นได้เปลี่ยนวิถีการทำงานของผู้คน และการทำงานทางไกลนั้นได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการอยู่บ้านจางลง พร้อมทั้งระบุว่าไม่มีงานใดๆ ที่คุ้มค่าต่อความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้างควรเจรจาร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปกป้องสุขภาพของลูกจ้าง
ผู้เขียน: นัฐชา (Nattachar K.)