สหภาพยุโรปเผย พร้อมหารือเรื่องการผ่อนปรนมาตรการสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงการสนับสนุนเรื่องดังกล่าวเพื่อช่วยประเทศที่เชื้อระบาดหนัก

สำนักข่าว นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า หลังจากรัฐบาลของสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกมาประกาศว่า ประธานาธิบดีตัดสินใจว่าจะสนับสนุนการผ่อนปรนมาตรการทางสิทธิบัตรสำหรับวัคซีนต้านโรคโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประเทศรายได้น้อย หรือปานกลาง ที่กำลังเผชิญการระบาดอย่างหนักของไวรัสมรณะชนิดนี้ หลังประเทศร่ำรวยที่ผลิตวัคซีนได้ ถูกกล่าวหาอย่างหนักว่ามีการกักตุนวัคซีน

ล่าสุดในวันพฤหัสบดีที่ 6 พ.ค. 2564 นางเออร์ซูลา วอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยยังไม่ถึงขั้นแสดงการสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลไบเดนทั้งหมด แต่ระบุว่า สหภาพยุโรปก็พร้อมที่จะหารือข้อเสนอใดๆ เพื่อแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ ในรูปแบบที่เน้นการปฏิบัติและมีประสิทธิภาพ

“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงพร้อมที่จะหารือว่า ข้อเสนอของสหรัฐฯ เรื่องการผ่อนปรนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนต้านโควิด-19 จะสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้อย่างไร” นางวอน แดร์ เลเยน กล่าวที่สถาบันมหาวิทยาลัยยุโรป ในเมืองฟลอเรนซ์ ของอิตาลี “อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้นี้ เราขอเรียกร้องให้ประเทศผู้ผลิตวัคซีนทั้งหมด อนุญาตให้มีการส่งออก และหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานเสียระบบ”

ทั้งนี้ ข้อเสนอเรื่องการผ่อนปรนสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มการผลิตวัคซีนทั่วโลก ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่สมาชิกสภายุโรป โดยฝ่ายที่สนับสนุนระบุ ตอนนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศรายได้น้อย และก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการยุโรปก็มีทีท่าไม่เห็นด้วยกับการผ่อนปรนสิทธิบัตรเช่นกัน จนกระทั่งสหรัฐฯออกมาสนับสนุน

...

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ร่วงอย่างหนัก แต่ ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ออกมาชื่นชมว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯถือเป็นโมเมนตัมสำคัญในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโคโรนา.